วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระจักขุบาล

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ ถ้าใจไม่ดี การทำการพูดก็ไม่ดีไปด้วย เพราะความไม่ดีนั้นเป็นเหตุความทุกข์ก็ติดตามมาเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค


     ในเมืองสาวัตถี มีพี่น้องสองคน เป็นลูกคนรวย พี่ชื่อมหาบาล น้องชื่อ จุลบาล วันหนึ่ง มหาบาลได้ตามคนทั้งหลายไปฟังธรรมพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมในพระธรรมเทศนา วันนั้นพระศาสดาทรงพินิจเห็นอุปนิสัยอันงามของมหาบาลแล้วทรงเทศนามุ่งที่ มหาบาลเป็นสำคัญ  เมื่อจบเทศนาแล้วมหาบาล ได้ความรู้แจ้งในธรรม เกิดรู้สึกอยากบวชในพุทธศานา เขาเข้าถวายบังคมทูลพระพุทธเจ้าขอบวช  พระพุทธเจ้าถามว่า " มีใครที่เขาต้องบอกลามั้ย" เขาบอกว่ามีน้องชายอยู่คนหนึ่ง พระพุทธเจ้าให้เขาไปบอกลาน้องชายเสียก่อน เขากลับไปบ้าน บอกมอบสมบัติทั้งหมดให้น้องชาย
     "แล้วพี่เล่า?" น้องชายเขาถาม  "พี่จะบวช"  เขาตอบมั่นคง  "บวชทำไมพี่  พี่ยังหนุ่มยังอยู่ในวัยควรบริโภคกาม ถ้าจะบวชก็ค่อยบวชตอนแก่" "บวชเมื่อแก่แล้วจะประพฤติพรหมจรรย์ให้ดีได้อย่างไร กำลังวังชาก็ถดถอย "   น้องชายเขาห้ามเท่าไรก็ไม่เป็นผล ในที่สุด มหาบาลก็ได้บวชสมใจปรารถนา
     เมื่อบวชได้ 5 พรรษา ได้นิสัยมุตตกะ คือพอปกครองตนเองได้แล้ว ปรารถนาจะออกไปอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ทำกิจของพรรชิตให้สิ้น จึงเข้าไปทูลลาพระศาสดา  พระศาสดตรัสบอกกัมมฐานให้ตั้งแต่ต้นจนเพียงพอที่จะบรรลุอรหัตตผลได้  เหมือนมารดาให้เสบียงแก่บุตรจึงอนุญาติให้ไป
     หลังจากทูลลาแล้วพระมหาบาทก็เที่ยวหาเพื่อนภิกษุที่จะร่วมทางไปด้วย ไ้ด้เพื่อนร่วมทาง 60 รูป เดินทางไปห่าง วัดเชตวัน 120 โยชน์ ถึงปลายแดนหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่ง ตอนเช้าเข้าไปบิณฑบาตร
ชาวบ้านได้เห็นอาการอันน่าเลื่อมในของพระภิกษุทั้งหลาย จึงกราบนิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ที่นี่ โดยที่ชาวบ้านทั้งหลายจะนับถือพระรัตนตรัยและรักษา ศีล 5 ศีล 8 ตลอดพรรษา พระมหาบาลก็รับคำนิมนต์
     ในหมู่บ้านนั้นมีหมอใจบุญคนหนึ่ง ได้ปวารณาตัวว่า หากมีพระรูปใดเจ็บไข้ได้ป่วยขอให้บอก เขาจะรักษาให้โดยไม่คิดค่ายาค่ารักษาแต่ประการใด
      เมื่อวันเข้าพรรษามาถึง พระมหาบาลถามภิกษุทั้งหลายว่า ในพรรษานี้จะอยู่ด้วยอิริยาบทเท่าใด
      ภิกษุทั้งหลายตอบว่า จะอยู่ด้วยอิริยาบท 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วท่านล่ะ
      "ข้าพเจ้าจะอยู่ด้วยอิริยาบท 3 คือ ยืน เดิน นั่ง เว้นอิริยาบทนอน"  และพระมหาบาทก็ได้ทำตามนั้น
 หนึ่งเดือนผ่านไป ก็เกิดโรคตาขึ้นกับท่าน น้ำตาไหลออกจากตาทั้งสองของท่านตลอดเวลา  ภิกษุทั้งหลายจึงไปตามหมอมารักษา หมอได้มาผสมยาให้ท่านหยอดตาเพื่อรักษา แต่ท่านไม่ยอมนอนหยอดกลับนั่งหยอดอยู่อย่างนั้น
     เมื่อไปบิณฑบาตรในตอนเช้าพบหมอ หมอถามว่า"ท่านได้หยอดตาหรือไม่"  ท่านตอบว่าหยอด
"ดีขึ้นหรือไม่" หมอถามต่อ  "ไม่ดีขึ้นเลย-อุบาสก,ยังเหมือนเดิม" ท่านตอบ
"ท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด" หมอถาม แต่พระมหาบาลนิ่ง หมอประหลาดใจมาก เพราะยาที่เขาประกอบนั้นเป็นยาดีมาก เคยรักษาคนไข้มาหยอดครั้งเดียวก็หาย แต่พระมหาบาลหยอดหลายครั้งแล้วอาการไม่ดีขึ้น
    ในวันต่อมาเขาถามพระอย่างนั้นอีก พระก็ตอบอย่างเดิมแล้วก็นิ่ง  หมอจึงคิดว่าชักไม่ได้เรื่องซ่ะแล้วจึงไปดูในที่อยู่ของท่าน ในที่อยู่ของท่านเห็นมีแต่ที่จงกรมและที่นั่ง ไม่มีที่นอน เขาจึงเข้าใจจึงพูดกับท่านว่า "พระคุณเจ้าท่านมิได้หยอดยาตามที่ข้าพเจ้าสั่งเลย ท่านจึงไม่หายจากโรค  สมณธรรมนั้นเมื่อร่างกายยังอยู่ ท่านย่อมสามารถทำได้ แต่เมื่อร่างกายไม่ดีเสียแล้ว ท่านจักบำเพ็ญสมณธรรมใดได้อย่างไร ขอท่านจงรักษาร่างกายไว้ก่อนเถิด"  พระมหาบาลตอบว่า "อาตมาขอเวลาคิดดูก่อน"
     เพราะความที่ท่านได้ตั้งสัตย์ไว้ว่าจะไม่นอนตลอดพรรษาจึงทำให้ท่านตัดสินใจไม่ทำตามหมอแนะนำแม้ตาทั้งสองจะแตกจะสลายไปท่านก็ยอมแต่ไม่ยอมทำลายความตั้งใจ สุดท้ายท่านก็นั่งหยอดยาอยู่อย่างนั้นนั่นเอง  วันรุ่งขึ้นเมื่อพบหมอ หมอก็ถามอย่างเคย ท่านก็ตอบอย่างเคย  หมอรู้ว่าด้วยอาการอย่างนี้โรคของพระท่านนี้ไม่อาจจะรักษาได้ เกรงเสียชื่อของตนจึงเรียนท่านว่า "พระคุณเจ้า ท่านมิได้ปฎิบัตตามที่หมอสั่งเลย ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอท่านอย่าได้พูดกับใครว่า ข้าพเจ้าเป็นหมอรักษาท่าน ข้าพเจ้าก็จักไม่พูดบอกกับใครเช่นกัน" พระเถระมิได้พูดอะไร
     เมื่อกลับมายังที่อยู่ของตน ให้โอวาทตนเองตกลงกับตนเองว่า"บัดนี้หมอได้บอกเลิกรักษาเสียแล้ว ขอให้มั่นคงในสัจจปฎิญาณ อย่าละทิ้งอุดมคตินั้นเสีย อย่านอน ยอมให้ตาแตกแต่อย่าทำลายความตั้งใจ ดวงตาหาได้ง่ายกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า นานครั้งพระพุทธเจ้าจึงจะอุบัติขึ้นสักองค์หนึ่ง แต่การเกิดของเราพร้อมด้วยดวงตานั้นมีนับครั้งไม่ถ้วน"  ท่านตกลงกับตนเอง แล้วคงทำความเพียรด้วยอิริยาบถ 3 ต่อไปไม่ยอมนอน
     พอล่วงมัชิมยามไป(เลยตีสองไปแล้ว) ดวงตาของท่านก็แตกไปพร้อมกับความดับโดยสิ้นเชิงแห่งกิเลสทั้งปวง ท่านเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก(ผู้ดำเนินตามสายพระวิปัสสนาจนเป็นพระอรหันต์) ผู้หนึ่ง