วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ชนกชาดกพระมหาชนก ตอนที่ 2

ในเมืองมิถิลา พระราชาโปลชนกไม่มีพระโอรส ทรงมีแต่ พระธิดาผู้ฉลาดเฉลียวเป็นอย่างยิ่ง พระนามว่า เจ้าหญิงสิวลี ครั้นเมื่อพระองค์ประชวรหนักใกล้จะสวรรคต บรรดาเสนา ทั้งปวงจึงทูลถามขึ้นว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วราชสมบัติ ควรจะตกเป็นของผู้ใด ในเมื่อไม่ทรงมีพระโอรส พระเจ้าโปลชนก ตรัสสั่งเสนาว่า "ท่านทั้งหลายจงมอบ ราชสมบัติให้แก่ผู้มีความสามารถดังต่อไปนี้ ประการแรก เป็นผู้ที่ทำให้พระราชธิดาของเราพอพระทัยได้ ประการที่สอง สามารถรู้ว่าด้านไหนเป็นด้านหัวนอนของ บัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ประการที่สาม สามารถยกธนูใหญ่ ซึ่งต้องใช้แรงคนธรรมดา ถึงพันคนจึงจะยกขึ้นได้ ประการที่สี่ สามารถชี้บอกขุมทรัพย์มหาศาลทั้ง 13 แห่งได้" แล้วจึงตรัสบอกปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่ง แก่เหล่าอำมาตย์ เช่น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ตก ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่ภายในและภายนอก ขุมทรัพย์ที่ปลายไม้ ขุมทรัพย์ที่ปลายงา ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง เป็นต้น เมื่อพระราชาสิ้นพระชนม์ บรรดาเสนาบดี ทหาร พลเรือน และประชาราษฎร์ทั้งหลายต่างพยายามที่จะ เป็นผู้สืบราชสมบัติ แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้เจ้าหญิงสีวลีพอพระทัยได้ เพราะล้วนแต่พยายามเอาพระทัยเจ้าหญิงมากเกินไป จนเสียลักษณะของผู้ที่จะปกครองบ้านเมือง ไม่มีผู้ใดสามารถยก มหาธนูใหญ่ได้ ไม่มีผู้ใดรู้ทิศหัวนอนของบัลลังก์สี่เหลี่ยม และไม่มีผู้ใดไขปริศนาขุมทรัพย์ได้
   ในที่สุดบรรดาเสนาข้าราชบริพารจึงควรตั้งพิธีเสี่ยงราชรถ เพื่อหาตัวบุคคลผู้มีบุญญาธิการสมควรครองเมือง บุษยราชรถเสี่ยงทายนั้นก็แล่นออกจากพระราชวัง ตรงไปที่สวน แล้วหยุดอยู่หน้าศาลาที่ พระมหาชนกทรงนอนอยู่ ปุโรหิตที่ตามราชรถจึงให้ประโคมดนตรีขึ้น พระมหาชนกได้ยินเสียงประโคม จึงลืมพระเนตรขึ้น เห็นราชรถ ก็ทรงดำริว่า คงเป็นราชรถเสี่ยงทาย พระราชาผู้มีบุญเป็นแน่ แต่ก็มิได้แสดงอาการอย่างใดกลับบรรทมต่อไป ปุโรหิตเห็นดังนั้น ก็คิดว่า บุรุษผู้นี้เป็นผู้มีสติปัญญา ไม่ตื่นเต้นตกใจกับสิ่งใดโดยง่าย จึงเข้าไปตรวจดูพระบาทพระมหาชนก เห็นลักษณะต้องตาม คำโบราณว่าเป็นผู้มีบุญ จึงให้ประโคมดนตรีขึ้นอีกครั้ง แล้วเข้าไปทูลอัญเชิญ พระมหาชนกให้ทรงเป็นพระราชาเมืองมิถิลา พระมหาชนกตรัสถามว่า พระราชาไปไหนเสีย ปุโรหิตก็กราบทูลว่า พระราชาสวรรคต ไม่มีพระโอรสมี แต่พระธิดาคือเจ้าหญิงสิวลี แต่องค์เดียว พระมหาชนกจึงทรงรับเป็นกษัตริย์ครองมิถิลา ฝ่ายเจ้าหญิงสิวลีได้ทรงทราบว่า พระมหาชนกได้ราชสมบัติ ก็ประสงค์จะทดลองว่า พระมหาชนก สมควรเป็นกษัตริย์หรือไม่ จึงให้ราชบุรุษไปทูลเชิญเสด็จมาที่ปราสาทของพระองค์ พระมหาชนกก็เฉยเสีย มิได้ไปตามคำทูล เจ้าหญิงให้คนไปทูล ถึง 3 ครั้ง พระมหาชนกก็ไม่สนพระทัย จนถึงเวลาหนึ่งก็ เสด็จไปที่ปราสาทของเจ้าหญิงเอง โดยไม่ทรงบอกล่วงหน้า เจ้าหญิงตกพระทัยรีบเสด็จมาต้อนรับเชิญ ไปประทับบนบัลลังก์
   พระมหาชนกจึงตรัสถามอำมาตย์ว่าพระราชาที่สิ้นพระ ชนม์ ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง อำมาตย์ก็ทูลตอบ พระมหาชนกจึงตรัสสั่งว่า ข้อที่ 1 "ที่ว่าทำให้เจ้าหญิงพอพระทัย เจ้าหญิงได้ แสดงแล้วว่าพอพระทัยเราจึงได้เสด็จมาต้อนรับเรา" ข้อที่ 2 เรื่องปริศนาทิศหัวนอนบัลลังก์นั้น พระมหาชนกทรง คิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วถอดเข็มทองคำที่กลัดผ้าโพกพระเศียรออก ส่งให้เจ้าหญิงให้วางเข็มทองคำไว้ เจ้าหญิงทรงรับเข็มไปวางไว้ บนบัลลังก์สี่เหลี่ยม พระมหาชนกจึงทรงชี้บอกว่าตรงที่เข็มวาง อยู่นั้นแหละคือทิศหัวนอนของบัลลังก์ โดยสังเกต จากการที่ เจ้าหญิงทรงวางเข็มทองคำ จากพระเศียรไว้ ข้อที่ 3 นั้นก็ตรัสสั่งให้นำมหาธนูมา ทรงยกขึ้นและน้าวอย่าง ง่ายดาย ข้อที่ 4 เมื่ออำมาตย์กราบทูลถึงปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่ง พระมหาชนกทรงคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ ตรัสบอกคำแก้ปริศนา ขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่งได้หมด เมื่อสั่งให้คนไปขุดดู ก็พบขุมทรัพย์ ตามที่ตรัสบอกไว้ทุกแห่ง ผู้คนจึงพากันสรรเสริญปัญญาของ พระมหาชนกกันทั่วทุกแห่งหน พระมหาชนกโปรดให้เชิญพระมารดาและพราหมณ์ ทิศาปาโมกข์จากเมืองกาลจัมปากะ ทรงอุปถัมภ์ บำรุงให้สุขสบาย ตลอดมา จากนั้นทรงสร้างโรงทานใหญ่ 6 ทิศในเมืองมิถิลา ทรงบริจาคมหาทานเป็นประจำ เมืองมิถิลาจึงมีแต่ความผาสุก สมบูรณ์ เพราะพระราชาทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ต่อมาพระนางสิวลีประสูติพระโอรส ทรงนามว่า ทีฆาวุกุมาร เมื่อเจริญวัยขึ้น พระบิดาโปรดให้ดำรง ตำแหน่งอุปราช อยู่มาวันหนึ่ง พระราชามหาชนกเสด็จอุทยานทอดพระเนตร เห็นมะม่วงต้นหนึ่งกิ่งหัก ใบไม้ร่วง อีกต้นมีใบแน่นหนา ร่มเย็นเขียวชอุ่ม จึงตรัสถาม อำมาตย์กราบทูลว่าต้นมะม่วง ที่มีกิ่งหักนั้น เป็นเพราะรสมีผลอร่อย ผู้คนจึงพากันสอยบ้าง เด็ดกิ่งและขว้างปาเพื่อเอาบ้าง จนมีสภาพเช่นนั้น ส่วนอีกต้น ไม่มีผล จึงไม่มีคนสนใจ ใบและกิ่งจึงสมบูรณ์เรียบร้อยดี พระราชาได้ฟังก็ทรงคิดว่า ราชสมบัติ เปรียบเหมือน ต้นไม้มีผลอาจถูกทำลาย แม้ไม่ถูกทำลายก็ต้องคอย ระแวดระวังรักษา เกิดความกังวล เราจะทำตนเป็นผู้ ไม่มีกังวลเหมือนต้นไม้ไม่มีผล เราจะออกบรรพชา สละราชสมบัติเสีย มิให้เกิดกังวล
   พระราชาเสด็จกลับมาปราสาท ปลงพระเกศาพระมัสสุ ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ครองอัฏฐบริขารครบถ้วน แล้วเสด็จออกจากมหาปราสาทไป ครั้นพระนางสิวลีทรงทราบ ก็รีบติดตามมา ทรงอ้อนวอนให้ พระราชาเสด็จกลับ พระองค์ก็ไม่ยินยอม พระนางสิวลีจึงทำอุบายให้อำมาตย์ เผาโรงเรือนเก่าๆ และ กองหญ้า กองใบไม้ เพื่อให้พระราชา เข้าพระทัยว่าไฟไหม้พระคลังจะได้เสด็จกลับ พระราชาตรัสว่า พระองค์เป็นผู้ไม่มีสมบัติแล้ว สมบัติที่แม้จริงของพระองค์ คือความสุขสงบจากการบรรพชานั้นยังคงอยู่กับพระองค์ ไม่มีผู้ใดทำลายได้ พระนางสิวลีทรงทำอุบายสักเท่าไร พระราชาก็มิได้สนพระทัย และตรัสให้ประชาชนอภิเษก พระทีฆาวุราชกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ เพื่อปกครองมิถิลาต่อไป พระนางสิวลีไม่ทรงละความเพียร พยายามติดตาม พระมหาชนกต่อไปอีก วันรุ่งขึ้นมีสุนัขคาบเนื้อที่เจ้าของเผลอ วิ่งหนีมาพบผู้คนเข้าก็ตกใจทิ้งชิ้นเนื้อไว้ พระมหาชนกคิดว่า ก้อนเนื้อนี้เป็นของไม่มีเจ้าของ สมควรที่จะเป็นอาหารของเราได้ จึงเสวยก้อนเนื้อนั้น พระนางสิวลีทรงเห็นดังนั้น ก็เสียพระทัย อย่างยิ่ง ที่พระสวามีเสวยเนื้อที่สุนัขทิ้งแล้ว แต่พระมหาชนกว่า นี่แหล่ะเป็นอาหารพิเศษ ต่อมาทั้งสองพระองค์ทรงพบเด็กหญิงสวมกำไลข้อมือ ข้างหนึ่งมีกำไลสองอัน อีกข้างมีอันเดียว พระราชาตรัสถามว่า "ทำไมกำไลข้างที่มีสองอันจึงมีเสียงดัง" เด็กหญิงตอบว่า "เพราะกำไลสองอันนั้น กระทบกันจึงเกิดเสียงดัง ส่วนที่มี ข้างเดียวนั้นไม่ได้กระทบกับอะไรจึงไม่มีเสียง" พระราชาจึง ตรัสแนะให้ พระนางคิดพิจารณาถ้อยคำของเด็กหญิง กำไลนั้นเปรียบเหมือนคนที่อยู่สองคน ย่อมกระทบกระทั่งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็จะสงบสุข แต่พระนางสิวลียังคงติดตาม พระราชาไปอีก จนมาพบนายช่างทำลูกศร นายช่างทูลตอบ คำถามพระราชาว่า "การที่ต้องหลับตาข้างหนึ่งเวลาดัด ลูกศรนั้น ก็เพราะถ้าลืมตาสอง ข้างจะไม่เห็นว่าข้างไหนคด ข้างไหนตรง เหมือนคนอยู่สองคนก็จะขัดแย้งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็ไม่ขัดแย้ง กับใคร" พระราชาตรัสเตือนพระนางสิวลีอีกครั้งหนึ่งว่า พระองค์ประสงค์จะเดินทางไปตามลำพัง เพื่อแสวงหา ความสงบไม่ประสงค์จะมีเรื่องขัดแย้งกระทบกระทั่ง หรือความไม่สงบอันเกิดจากการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น อีกต่อไป
   พระนางสิวลีได้ฟังพระวาจาดังนั้นก็น้อยพระทัยจึงตรัสว่า "ต่อไปนี้หม่อมฉันหมดวาสนาจะได้อยู่ร่วมกับ พระองค์อีกแล้ว" พระราชาจึงเสด็จไปสู่ป่าใหญ่แต่ลำพังเพื่อบำเพ็ญสมาบัติ มิได้กลับมาสู่พระนครอีก ส่วนพระนางสิวลี เสด็จกลับเข้าสู่ พระราชวัง อภิเษกพระทีฆาวุกุมารขึ้นเป็นพระราชา แล้วพระนางโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นในที่ต่างๆ เพื่อรำลึกถึง พระราชามหาชนก ผู้ทรงมีพระสติปัญญา และที่ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด คือ ทรงมีความ เพียรพยายามเป็นเลิศ มิได้เคยเสื่อมถอย จากความเพียร ทรงตั้งพระทัยที่จะกระทำการโดยเต็มกำลัง ความสามารถ เพราะทรงยึดมั่นว่า บุคคลควรตั้งความเพียรพยายามไม่ว่ากิจการนั้น จะยากสักเพียงใด ก็ตาม คนมีปัญญาแม้ได้รับทุกข์ ก็จะไม่สิ้นหวัง ไม่สิ้นความเพียรที่จะพาตนให้พ้นจากความทุกข์นั้นให้ ได้ในที่สุด

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ชนกชาดก พระมหาชนก


ณ เมืองมิถิลาแห่งรัฐวิเทหะ พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระเจ้ามหาชนก ทรงมีพระโอรสสององค์ คือ เจ้าอริฏฐชนก และ เจ้าโปลชนก เจ้าอริฏฐชนกทรงเป็นอุปราช ส่วนเจ้าโปลชนกทรง เป็นเสนาบดี เมื่อพระราชบิดาสวรรคต เจ้าอริฏฐชนกผู้เป็นอุปราช ก็ได้ครองบ้านเมืองต่อมา เจ้าโปลชนกทรงเป็นอุปราช ทรงเอาใจใส่ดูแลบ้านเมืองช่วยเหลือพระเชษฐาอย่างดียิ่ง มีอำมาตย์คนหนึ่งไม่พอใจพระเจ้าโปลชนก จึงหาอุบายให้ พระราชาอริฏฐชนกระแวงพระอนุชา โดยทูลพระราชาว่า เจ้าโปลชนกคิดขบถ จะปลงพระชนม์พระราชา พระราชาทรงเชื่อคำ อำมาตย์ จึงให้จับเจ้าโปลชนกไปขังไว้ เจ้าโปลชนกเสด็จหนี ไปจากที่คุมขังได้หลบไปอยู่ที่ชายแดนเมืองมิถิลา เจ้าโปลชนก ทรงคิดว่า เมื่อครั้งที่ยังเป็นอุปราชนั้น มิได้เคยคิดร้ายต่อพระราชา ผู้เป็นพี่เลย แต่ก็ยังถูกระแวงจนต้องหนีมา ถ้าพระราชาทรงรู้ว่า อยู่ที่ไหนก็คงให้ทหารมาจับไปอีกจนได้ บัดนี้ผู้คนมากมาย ที่ชายแดนที่เห็นใจ และพร้อมที่จะเข้าเป็นพวกด้วย ควรที่จะรวบรวมผู้คนไปโจมตีเมืองมิถิลาเสียก่อนจึงจะดีกว่า
   เมื่อคิดดังนั้นแล้ว เจ้าโปลชนกก็พาสมัครพรรคพวกยกเป็น กองทัพไปล้อมเมืองมิถิลา บรรดาทหารแห่งเมืองมิถิลาพากัน เข้ากับเจ้าโปลชนกอีกเป็นจำนวนมาก เพราะเห็นว่าเจ้าโปลชนก เป็นผู้ซื่อสัตย ์และมีความสามารถ แต่กลับถูกพระราชาระแวง และจับไปขังไว้โดยไม่ยุติธรรม ครั้นเมื่อเจ้าโปลชนกมีผู้คนไพร่พลเข้าสมทบด้วยเป็นจำนวน มากมายเช่นนี้ พระเจ้าอริฏฐชนกทรงเห็นว่า ไม่มีทางจะเอาชนะ ได้ จึงตรัสสั่งพระมเหสีซึ่งกำลังทรงครรภ์แก่ ให้ทรงหลบหนี เอาตัวรอด ส่วนพระองค์เองทรงออกทำสงคราม และสิ้นพระชนม์ ในสนามรบ เจ้าโปลชนกจึงทรงได้เป็นกษัตริย์ ครองเมืองมิถิลาสืบต่อมา ฝ่ายพระมเหสีของพระเจ้าอริฏฐชนก เสด็จหนีออกจาก เมืองมา ตั้งพระทัยจะเสด็จไปอยู่เมือง กาลจัมปากะ แต่กำลังทรงครรภ์แก่ เดินทางไม่ไหว ด้วยเดชานุภาพ แห่งพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในพระครรภ์ พระอินทร์จึงเสด็จมาช่วย ทรงแปลงกายเป็นชายชราขับเกวียนมาที่ศาลาที่ พระนางพักอยู่ และถามขึ้นว่า
   "มีใครจะไปเมืองกาลจัมปากะบ้าง" พระนางดีพระทัยรีบตอบว่า "ลุงจ๋า ฉันจะไปจ๊ะ" พระอินทร์แปลงจึงรับพระนางขึ้นเกวียน พาเดินทางไป เมืองกาลจัมปากะ ด้วยอานุภาพเทวดา แม้ระยะทาง ไกลถึง 60 โยชน์ เกวียนนั้นก็เดินทางไปถึงเมืองในชั่ววันเดียว พระมเหสีเสด็จไปนั่งพักอยู่ในศาลาแห่งหนึ่งในเมืองนั้น
   บังเอิญมีพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่งเดินผ่าน มาเห็น พระนางเข้า ก็เกิดความเอ็นดูสงสาร จึงเข้าไปไต่ถาม พระนางก็ตอบว่าหนีมาจากเมืองมิถิลา และไม่มีญาติพี่น้องอยู่ ที่เมืองนี้เลย พราหมาณ์ทิศาปาโมกข์จึงรับพระนางไปอยู่ด้วย ที่บ้านของตน อุปการะเลี้ยงดูพระนางเหมือนเป็นน้องสาว ไม่นานนัก พระนางก็ประสูติพระโอรส ทรงตั้งพระนามว่า มหาชนกกุมาร ซึ่งเป็นพระนามของพระอัยกา ของพระกุมาร มหาชนกกุมารทรงเติบโตขึ้นในเมืองกาลจัมปากะ มีเพื่อนเล่นเด็กๆ วัยเดียวกันเป็นจำนวนมาก วันหนึ่ง มหาชนกกุมารโกรธกับเพื่อนเล่น จึงลากเด็กคนนั้นไปด้วย กำลังมหาศาล เด็กก็ร้องไห้บอกกับคนอื่นๆ ว่า ลูกหญิงม่าย รังแกเอา มหาชนกกุมารได้ยินก็แปลกพระทัยจึงไปถาม พระมารดาว่า "ทำไมเพื่อนๆ พูด ว่า ลูกเป็นลูกแม่ม่าย พ่อของลูกไปไหน" พระมารดาตอบว่า "ก็ท่านพราหมณ์ทิศา ปาโมกข์นั่นแหล่ะเป็น พ่อของลูก" เมื่อมหาชนกกุมารไป บอกเพื่อนเล่นทั้งหลาย เด็กเหล่านั้นก็หัวเราะเยาะ บอกว่า "ไม่จริง ท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์ไม่ใช่พ่อของเจ้า" มหาชนกก็กลับมาทูลพระมารดา อ้อนวอนให้บอกความจริง พระมารดาขัดไม่ได้ จึงตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระโอรสทรงทราบ
   เมื่อพระกุมารทราบว่าพระองค์ทรงมี ความเป็นมาอย่างไร ก็ทรงตั้งพระทัยว่าจะร่ำเรียนวิชาการเพื่อให้มีความรู้ความสามารถ จะได้เสด็จไปเอาราชสมบัติเมืองมิถิลาคืนมา ครั้นมหาชนกกุมารร่ำเรียนวิชาในสำนักพราหมณ์จนเติบใหญ่ พระชนม์ได้ 16 พรรษาจึงทูลพระมารดาว่า "หม่อมฉันจะเดินทาง ไปค้าขาย เมื่อมีทรัพย์สินมากพอแล้ว จะได้คิดอ่าน เอาบ้านเมืองคืนมา" พระมารดาทรงนำเอาทรัพย์สินมีค่ามาจากมิถิลา 3 สิ่ง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร อันมี ราคามหาศาล จึงประทานแก้วนั้นให้พระมหาชนกเพื่อนำไปซื้อสินค้า พระมหาชนกทรงจัดซื้อสินค้าบรรทุกลงเรือร่วมไปกับ พ่อค้าชาวสุวรรณภูมิ ในระหว่างทาง เกิดพายุใหญ่ โหมกระหน่ำ คลื่นซัดจนเรือจวนจะแตก บรรดาพ่อค้าและลูกเรือพากัน ตระหนกตกใจ บวงสรวง อ้อน วอนเทพยดาขอให้รอดชีวิต ฝ่ายมหาชนกกุมาร เมื่อทรงทราบว่าเรือจะจมแน่แล้ว ก็เสวยอาหารจน อิ่มหนำ ทรงนำผ้ามาชุบน้ำมันจนชุ่ม แล้วนุ่งผ้านั้นอย่างแน่นหนา ครั้นเมื่อเรือจมลง เหล่าพ่อค้ากลาสี เรือทั้งปวงก็จมน้ำ กลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำไปหมด แต่พระมหาชนกทรงมีกำลังจากอาหารที่เสวย มีผ้าชุบน้ำมัน ช่วยไล่สัตว์น้ำ และช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ดี จึงทรงแหวกว่าย อยู่ในทะเลได้นานถึง 7 วัน ฝ่ายนางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร เห็นพระมหาชนก ว่ายน้ำอยู่เช่นนั้น จึงลองพระทัย พระมหาชนก "ใครหนอ ว่ายน้ำอยู่ได้ถึง 7 วัน ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง จะทนว่ายไปทำไมกัน" พระมหาชนกทรงตอบว่า "ความเพียรย่อมมีประโยชน์ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็จะว่ายไปจนกว่าจะถึง ฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง" นางมณีเมขลากล่าวว่า "มหาสมุทรนี้กว้างใหญ่นัก ท่านจะพยายามว่ายสักเท่าไรก็คงไม่ถึงฝั่ง ท่านคงจะ ตายเสียก่อนเป็นแน่" พระมหาชนกตรัสตอบว่า "คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะต้องตายไปในขณะกำลังทำ ความเพียรพยายามอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดมาตำหนิติเตียนได้ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว " นางมณีเมขลาถามต่อว่า "การทำความพยายามโดยมองไม่เห็น ทางบรรลุเป้าหมายนั้น มีแต่ความยากลำบาก อาจถึงตายได้ จะต้องเพียรพยายามไปทำไมกัน" พระมหาชนกตรัสตอบว่า "แม้จะรู้ว่าสิ่งที่เรา กำลังกระทำนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม ถ้าไม่เพียรพยายามแต่กลับหมดมานะเสียแต่ต้นมือ ย่อมได้รับ ผลร้ายของความเกียจคร้านอย่างแน่นอน ย่อมไม่มีวัน บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ บุคคลควรตั้งความเพียรพยายาม แม้การนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม เพราะเรามีความพยายาม ไม่ละความตั้งใจ เราจึงยังมีชีวิตอยู่ได้ ในทะเลนี้ เมื่อคนอื่นได้ตายกันไปหมดแล้ว เราจะพยายามสุดกำลัง เ พื่อไปให้ถึงฝั่งให้จงได้" นางมณีเมขลาได้ยินดังนั้น ก็เอ่ยสรรเสริญความเพียร ของมหาชนกกุมาร และช่วยอุ้มพามหาชนกกุมาร ไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา วางพระองค์ไว้ที่ศาลาในสวนแห่งหนึ่ง

คุณทราบมั้ยนิทานชาดกคืออะไร

..
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกายชาดก ภาค ๑

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ เป็นภาคแรกของชาดก ได้กล่าวถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันมีลักษณะเป็นนิทานสุภาษิต แต่ในตัวพระไตรปิฎกไม่มีเล่าเรื่องไว้ มีแต่คำสุภาษิต รวมทั้งคำโต้ตอบในนิทานเรื่องละเอียดมีเล่าไว้ในอรรถกถา คือหนังสือที่แต่งขึ้นอธิบายพระไตรปิฎกอีกต่อหนึ่ง
คำว่า ชาตก หรือ ชาดก แปลว่า ผู้เกิด คือเล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงเวียนว่ายตายเกิด ถือเอากำเนิดในชาติต่างๆ ได้พบปะผจญกับเหตุการณ์ดีบ้างชั่วบ้าง แต่ก็ได้พยายามทำความดีติดต่อกันมากบ้างน้อยบ้างตลอดมา จนเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย
   กล่าวอีกอย่างหนึ่ง จะถือว่า เรื่องชาดกเป็นวิวัฒนาการแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดี ของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ก็ได

ในอรรถกถาแสดงด้วยว่า ผู้นั้นผู้นี้กลับชาติมาเกิดเป็นใครในสมัยพระพุทธเจ้า แต่ในบาลีพระไตรปิฎกกล่าวถึงเพียงบางเรื่อง เพราะฉะนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่คุณงามความดีและอยู่ที่คติธรรมในนิทานนั้นๆ
อนึ่ง เป็นที่ทราบกันว่าชาดกทั้งหมดมี ๕๕๐ เรื่อง แต่เท่าที่ได้ลองนับดูแล้วปรากฏว่า ในเล่มที่ ๒๗ มี ๕๒๕ เรื่อง, ในเล่มที่ ๒๘ มี ๒๒ เรื่อง รวมทั้งสิ้นจึงเป็น ๕๔๗ เรื่อง ขาดไป ๓ เรื่อง แต่การขาดไปนั้น น่าจะเป็นด้วยในบางเรื่องมีนิทานซ้อนนิทาน และไม่ได้นับเรื่องซ้อนแยกออกไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนที่นับได้ จัดว่าใกล้เคียงมาก
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดกภาค ๒

ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ เป็นเล่มที่รวมเรื่องชาดกที่เล็กๆน้อยๆรวมกันถึง ๕๒๕ เรื่อง แต่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ นี้มีเพียง ๒๒ เรื่อง เพราะเป็นเรื่องยาวๆทั้งนั้น โดย ๑๒ เรื่องแรกเป็นเรื่องที่มีคำฉันท์ ส่วน ๑๐ เรื่องหลัง คือเรื่องที่เรียกว่า มหานิบาตชาดก แปลว่า ชาดกที่ชุมนุมเรื่องใหญ่ หรือที่โบราณเรียกว่า ทศชาต
...

ข้อมูลจาก : พระไตรปิฎกฉบับประชาชน อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ทศชาติชาดก พระเตมีย์ใบ้


 นิทานทศชาติ พระเตมีย์ใบ้




ระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้ากาสิกราช ครองเมืองชื่อว่า พาราณสี มีพระมเหสี พระนามว่า จันทรเทวี พระราชาไม่มีพระราชโอรสที่จะครองเมืองต่อจากพระองค์ จึงโปรดให้ พระนางจันทรเทวีทำพิธีขอพระโอรสจากเทพเจ้า พระนางจันทรเทวีจึงทรงอธิษฐานว่า
"ข้าพเจ้าได้รักษาศีล บริสุทธิ์ตลอดมา ขอให้บุญกุศลนี้บันดาลให้ข้าพเจ้ามีโอรสเถิด" ด้วยอานุภาพแห่งศีลบริสุทธิ์ พระนางจันทรเทวีทรงครรภ์ และประสูติพระโอรสสมดังความปราถนา พระโอรส มีรูปโฉม งดงามยิ่งนัก ทั้งพระราชาพระมเหสี และประชาชนทั้งหลาย มีความยินดีเป็นที่สุด พระราชาจึงตั้งพระนามโอรสว่า เตมีย์ แปลว่า เป็นที่ยินดีของคนทั้งหลาย บรรดาพราหมณ์ผู้รู้วิชาทำนายลักษณะบุคคล ได้กราบทูล พระราชาว่า พระโอรสองค์นี้มีลักษณะประเสริฐ เมื่อเติบโตขึ้น จะได้เป็นพระราชาธิราชของมหาทวีปทั้งสี่ พระราชาทรงยินดี เป็นอย่างยิ่ง และทรงเลือกแม่นมที่มีลักษณะดีเลิศตามตำรา จำนวน 64 คน เป็นผู้ปรนนิบัติเลี้ยงดูพระเตมีย์กุมาร วันหนึ่ง พระราชาทรงอุ้มพระเตมีย์ไว้บนตัก ขณะที่กำลัง พิพากษาโทษผู้ร้าย 4 คน พระราชาตรัสสั่งให้เอาหวาย ที่มีหนามแหลมคมมาเฆี่ยนผู้ร้ายคนหนึ่ง แล้วส่งไปขังคุก ให้เอาฉมวกแทงศีรษะผู้ร้ายคนที่สาม และให้ใช้หลาว เสียบผู้ร้ายคนสุดท้าย
   พระเตมีย์ซึ่งอยู่บนตักพระบิดาได้ยินคำพิพากษาดังนั้น ก็มีความตกใจหวาดกลัว ทรงคิดว่า
"ถ้าเราโต ขึ้นได้เป็นพระราชา เราก็คงต้องตัดสินโทษผู้ร้ายบ้างและคงต้องทำบาป เช่นเดียวกันนี้ เมื่อเราตายไป ก็จะต้องตกนรกอย่างแน่นอน"
   เนื่องจากพระเตมีย์เป็นผู้มีบุญ จึงรำลึกชาติได้และทรงทราบว่า ในชาติก่อนได้เคยเป็นพระราชาครองเมือง และได้ตัดสินโทษ ผู้ร้ายอย่างเดียวกันนี้ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์จึงต้องตกนรก อยู่ถึง 7,000 ปี ได้รับความทุกข์ทรมาณเป็นอันมาก พระเตมีย์ทรงมีความหวาดกลัวอย่างยิ่ง ทรงรำพึงว่า
   "ทำอย่างไร หนอ เราจึงจะไม่ต้องทำบาป และไม่ต้องตกนรกอีก"
ขณะนั้นเทพธิดาที่รักษาเศวตฉัตรได้ยินคำรำพึงของพระเตมีย์ จึงปรากฏกายให้พระองค์เห็นและแนะนำพระเตมีย์ว่า
   "หากพระองค์ทรงหวั่นที่จะกระทำบาป ทรงหวั่นเกรงว่าจะตกนรก ก็จงทำเป็น หูหนวก เป็นใบ้ และเป็นง่อยเปลี้ย อย่าให้ชนทั้งหลาย รู้ว่าพระองค์เป็นคนฉลาด เป็นคนมีบุญ พระองค์ จะต้องมีความอดทน ไม่ว่าจะได้รับความเดือดร้อนอย่างใดก็ต้องแข็งพระทัย ต้องทรงต่อสู้ กับพระทัย ตนเองให้จงได้ อย่ายอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาชักจูงใจ พระองค์ไปจากหนทางที่พระองค์ตั้งพระทัยไว้"
   พระเตมีย์กุมารได้ยินเทพธิดาว่าดังนั้น ก็ดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า
"ต่อไปนี้ เราจะทำตนเป็นคนใบ้ หูหนวก และง่อยเปลี้ย ไม่ว่าจะมีเรื่องอันใดเกิดขึ้น เราก็จะ ไม่ละความตั้งใจเป็นอันขาด"

   นับแต่นั้นมา พระเตมีย์ก็ทำพระองค์เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ และเป็นง่อย ไม่ร้อง ไม่พูด ไม่หัวเราะ และไม่เคลื่อนไหว ร่างกายเลย พระราชาและพระมเหสีทรงมีความวิตกกังวล ในอาการของพระโอรส ตรัสสั่งให้พี่เลี้ยงและแม่นมทดลอง ด้วยอุบายต่างๆ เช่น ให้อดนม พระเตมีย์ก็ทรงอดทน ไม่ร้องไห้ ไม่แสดงความหิวโหย ครั้นพระราชาให้พี่เลี้ยง เอาขนมล่อ พระเตมีย์ก็ไม่สนพระทัย นิ่งเฉยตลอดเวลา พระราชาทรงมีความหวังว่า พระโอรสคงไม่ได้หูหนวก เป็นใบ้ และง่อยเปลี้ยจริง จึงโปรดให้ทดลอง ด้วยวิธีต่างๆ เป็นลำดับ เมื่ออายุ 2 ขวบ เอาผลไม้มาล่อ พระกุมารก็ไม่สนพระทัย อายุ 4 ขวบ เอาของเสวยรสอร่อยมาล่อ พระกุมารก็ไม่สนพระทัย อายุ 5 ขวบ พระราชาให้เอาไฟมาขู่ พระเตมีย์ก็ไม่แสดงความ ตกใจกลัว อายุ 6 ขวบ เอาช้างมาขู่ อายุ 7 ขวบ เอางูมาขู่ พระเตมีย์ก็ไม่หวาดกลัว ไม่ถอยหนีเหมือนเด็กอื่นๆ พระราชาทรงทดลองด้วยวิธีการต่างๆเรื่อยมา จนพระเตมีย์ อายุได้ 16 พรรษา ก็ไม่ได้ผล พระเตมีย์ยังทรงทำเป็นหูหนวก ทำเป็นใบ้ และไม่เคลื่อนไหวเลย ตลอดเวลา 16 ปี
   ในที่สุด พระราชาก็ให้หาบรรดาพราหมณ์และที่ปรึกษาทั้งหลายมาและตรัสถามว่า
"พวกเจ้าเคยทำนายว่า ลูกเราจะเป็น ผู้มีบุญ เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อลูกเรามีอาการเหมือนคน หูหนวก เป็นใบ้ และเป็น ง่อยเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรดี"
พราหมณ์และที่ปรึกษาพากันกราบทูลว่า
   "เมื่อตอนที่ประสูตินั้นพระโอรส มีลักษณะเป็นผู้มีบุญ แต่บัดนี้ เมื่อได้กลับกลายเป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ เป็นง่อย ก็กลายเป็นกาลกิณีจะ ทำให้บ้านเมืองและประชาชนเดือดร้อน ขอให้พระองค์สั่งให้นำพระโอรสไปฝังที่ป่าช้าเถิดพะย่ะค่ะ จะได้สิ้นอันตราย"
   พระราชาได้ยินดังนั้นก็ทรงเศร้าพระทัยด้วยความรักพระโอรส แต่ก็ไม่อาจแก้ไขอย่างไรได้ เพราะเป็น ห่วงบ้านเมืองและ ประชาชน จึงต้องทรงทำตามคำกราบของพราหมณ์และ ที่ปรึกษาทั้งหลาย พระนางจันทเทวีทรงทราบว่า พระราชาให้นำ พระโอรสไปฝังที่ป่าช้า ก็ทรงร้องไห้คร่ำครวญว่า
   "พ่อเตมีย์ลูกรัก ของแม่ แม่รู้ว่าลูกไม่ใช่คนง่อยเปลี้ย ไม่ใช่คนหูหนวก ไม่ใช่คนใบ้ ลูกอย่าทำอย่างนี้เลย แม่เศร้าโศกมา ตลอดเวลา 16 ปีแล้ว ถ้าลูกถูกนำไปฝัง แม่คงเศร้าโศกจนถึงตายได้นะลูกรัก"
   พระเตมีย์ได้ยินดังนั้นก็ทรงสงสารพระมารดาเป็นอันมาก ทรงสำนึกในพระคุณของพระมารดา แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงรำลึกว่า พระองค์ตั้งพระทัยไว้ว่า จะไม่ทำการใดที่จะทำให้ต้องไปสู่นรกอีก จะไม่ทรงยอมละความตั้งใจที่จะทำเป็นใบ้ หูหนวก และเป็นง่อย จะไม่ยอมให้สิ่งใดมาชักจูงใจพระองค์ ไปจากหนทางที่ทรงวางไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด
   พระราชาจึงตรัสสั่งให้นายสารถีชื่อ สุนันทะ นำพระเตมีย์ขึ้นรถเทียมม้า พาไปที่ป่าช้าผีดิบ ให้ขุดหลุมแล้วเอาพระเตมีย์โยนลงไปในหลุมเอาดินกลบเสียให้ตาย นายสุนันทะจึงทรงอุ้มพระเตมีย์ขึ้นรถเทียมม้าพาไปที่ป่าช้าผีดิบเมื่อไปถึง ป่าช้านายสุนันทะก็เตรียม ขุดหลุมจะฝังพระเตมีย์ พระเตมีย์กุมารประทับอยู่บนราชรถ ทรงรำพึงว่า
   "บัดนี้เราพ้นจากความทุกข์ ว่าจะต้องเป็นพระราชา พ้นความทุกข์ว่า จะต้องทำบาป เราได้อดทนมาตลอดเวลา 16 ปี ไม่เคยเคลื่อน ไหวร่างกายเลย เราจะลองดูว่า เรายังคงเคลื่อนไหวได้หรือไม่ มีกำลังร่างกายสมบูรณ์หรือไม่"
   รำพึงแล้ว พระเตมีย์ก็เสด็จลงจากราชรถ ทรงเคลื่อนไหว ร่างกาย ทดลองเดินไปมา ก็ทราบว่า ยังคงมีกำลังร่างกาย สมบูรณ์เหมือนคนปกติ จึงทดลองยกราชรถ ก็ปรากฏว่าทรงมีกำลังยกราชรถขึ้นกวัดแกว่ง ได้อย่างง่ายดาย จึงทรงเดินไปหา นายสุนันทะที่กำลังก้มหน้าก้มตาขุดหลุมอยู่ พระเตมีย์ตรัสถาม นายสุนันทะว่า
   "ท่านเร่งรีบขุดหลุมไปทำไม"
นายสุนันทะตอบ คำถามโดยไม่ได้เงยหน้าขึ้นดูว่า
   "เราขุดหลุมจะฝังพระโอรส ของพระราชา เพราะพระโอรสเป็นง่อย เป็นใบ้ และหูหนวก พระราชาตรัสสั่งให้ฝัง เสีย จะได้ไม่เป็นอันตรายแก่บ้านเมือง"
พระเตมีย์จึงตรัสว่า
   "เราไม่ได้เป็นใบ้ ไม่ได้หูหนวก และไม่ง่อยเปลี้ย จงเงยขึ้นดูเราเถิด ถ้าท่านฝังเราเสีย ท่านก็จะประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม"
   นายสารถีเงยขึ้นดู เห็นพระเตมีย์ก็จำไม่ได้ จึงถามว่า
   "ท่านเป็นใคร ท่านมีรูปร่าง งามราวกับเทวดา ท่านเป็นเทวดาหรือ หรือว่าเป็นมนุษย์ ท่านเป็นลูกใคร ทำอย่างไร เราจึงจะรู้จักท่าน"
   พระเตมีย์ตอบว่า
   "เราคือเตมีย์กุมาร โอรสพระราชา ผู้เป็นนายของท่าน ถ้าท่านฝังเราเสียท่านก็จะได้ชื่อว่า ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม พระราชาเปรียบเหมือนต้นไม้ ตัวเราเปรียบเหมือนกิ่งไม้ ท่านได้อาศัยร่มเงาไม้ ถ้าท่านฝังเราเสีย ท่านก็ได้ชื่อว่า ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม นายสารถียังไม่เชื่อว่าเป็นพระกุมารที่ตนพามา พระเตมีย์ทรง ประสงค์จะให้นายสารถีเชื่อ จึงตรัสอธิบาย ให้เห็นว่าหาก นายสารถีจะฝังพระองค์ก็ได้ชื่อว่าทำร้ายมิตร ทรงอธิบายว่า "ผู้ไม่ทำร้ายมิตร จะไปที่ได ก็มีคนคบหามาก จะไม่อดอยาก ไปที่ใดก็มีผู้สรรเสริญบูชา โจรจะไม่ข่มเหง พระราชาไม่ดูหมิ่น จะเอาชนะศัตรูทั้งปวงได้ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร เมื่อมาถึงบ้านเรือนของตน หมู่ญาติและประชาชน จะพากันชื่นชมยกย่อง ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ย่อมได้รับการสักการะ เพราะเมื่อสักการะท่านแล้ว ย่อมได้รับการสักการะตอบ เมื่อเคารพบูชาท่านแล้ว ย่อมได้รับการเคารพตอบ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ย่อมรุ่งเรืองเหมือนกองไฟรุ่งโรจน์ ดังเทวดา เป็นผู้มีมิ่งขวัญสิริมงคลประจำตนอยู่เสมอ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร จะทำการใดก็สำเร็จผล โคจะมีลูกมาก หว่านพืชลงในนา ก็จะงอกงาม แม้จะพลัดตกเหว ตกจากภูเขา ตกจากต้นไม้ ก็จะไม่เป็นอันตราย ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ศัตรูไม่อาจข่มเหงได้ เพราะเป็นผู้มีมิตรมาก เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ที่มีราก ติดต่อพัวพัน ลมแรงก็ไม่อาจทำร้ายได้ "
   นายสารถีได้ยินพระเตมีย์ตรัส ยิ่งเกิดความสงสัย จึงเดินมาดูที่ราชรถ ก็ไม่เห็นพระกุมารที่ตนพามา ครั้นเดิน กลับมาพินิจพิจารณาพระเตมีย์อีกครั้งก็จำได้ จึงทูลว่า "ข้าพเจ้าจะพาพระองค์กลับวัง ขอเชิญเสด็จกลับไป ครองพระนครเถิด"

 พระเตมีย์ตรัสตอบว่า
" เราไม่กลับไปวัง อีกแล้ว เราได้ตัดขาดจากความ ยินดีในสมบัติทั้งหลาย เราได้ตั้งความอดทนมาเป็นเวลาถึง 16 ปี อันราชสมบัติ ทั้ง พระนครและความสุข ความรื่นเริงต่างๆ เป็นของน่าเพลิดเพลิน แต่าเราไม่ปรารถนาจะหลงอยู่ในความเพลิดเพลินนั้น ไม่ปรารถนาจะกระทำบาปอีก เราจะไม่ก่อเวรให้เกิดขึ้นอีกแล้ว บัดนี้เราพ้นจากภาระนั้นแล้ว เพราะพระบิดาพระมารดา ปล่อยเราให้พ้นจากราชสมบัติมาแล้ว เราพ้นจากความหลงใหล ในกิเลสทั้งหลาย เราจะขอบวชอยู่ในป่านี้แต่ลำพัง เราต่อสู้ได้ชัยชนะในจิตใจของเราแล้ว"

   เมื่อตรัสดังนั้น พระเตมีย์กุมารมีความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง รำพึงกับพระองค์เองว่า
"ผู้ที่ไม่ใจเร็วด่วนได้ ผู้ที่มีความอดทน ย่อมได้รับผลสำเร็จด้วยดี"
   นายสุนันทะสารถีได้ฟังก็เกิดความยินดี ทูลพระเตมีย์ว่า จะขอบวชอยู่กับพระเตมีย์ในป่า แต่พระองค์ เห็นว่า หากนายสารถีไม่กลับไปเมือง จะเกิดความสงสัยว่าพระองค์ หายไปไหน ทั้งนายสารถี ราชรถ เครื่องประดับทั้งปวงก็สูญหายไป ควรที่นายสารถีจะนำสิ่งของทั้งหลายกับไปพระราชวัง ทูลเรื่องราวให้พระราชาทรงทราบเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมา บวชเมื่อหมดภาระ นายสุนันทะจึงกลับไปกราบทูลพระราชาว่า พระเตมีย์กุมาร มิได้วิกลวิการ แต่ทรงมีรูปโฉมงดงามและ ตรัสได้ไพเราะ เหตุที่แสร้งทำเป็นคนพิการก็เพราะไม่ปรารถนาจะครองราชสมบัติ ไม่ปรารถนาจะก่อ เวรทำบาปอีกต่อไป
   เมื่อพระราชาและพระมเหสีได้ทรงทราบ ก็ทรงปลื้มปิติยินดี โปรดให้จัดกระบวนไปรับพระเตมีย์กลับจากป่า ขณะนั้น พระเตมีย์ทรงผนวชแล้ว ประทับอยู่ในบรรณศาลาซึ่งเทวดา เนรมิตไว้ให้ เมื่อพระบิดา พระมารดาเสด็จไปถึง พระเตมีย์จึงเสด็จมาต้อนรับ ทักทายปราศรัยกันด้วยความยินดี พระราชาเห็นพระโอรสผนวชเป็นฤาษี เสวยใบไม้ลวก เป็นอาหาร และประทับอยู่ลำพังในป่า จึงตรัสถามว่าเหตุใด จึงยังมีผิวพรรณผ่องใส ร่างกายแข็งแรง พระเตมีย์ตรัส ตอบพระบิดาว่า "อาตมามีร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใส เพราะไม่ต้องเศร้าโศกถึงอดีต ไม่ต้องรอคอยอนาคต อาตมาใช้ชีวิตให้เป็นไปตามที่สมควรในปัจจุบัน คนพาลนั้นย่อมซูบซีดเพราะมัวโศกเศร้าถึงอดีต เพราะมัวรอคอยอนาคต"
    พระราชาตรัสตอบว่า
"ลูกยังหนุ่มยังแน่นแข็งแรง จะมามัวอยู่ทำอะไรในป่า กลับไปบ้านเมืองเถิดกลับ ไปครองราชสมบัติ มีโอรสธิดา เมื่อชราแล้วจึงค่อยมาบวช"
   พระเตมีย์ตรัสตอบว่า "การบวชของคนหนุ่มย่อมเป็นที่สรรเสริญ ใครเล่าจะนอนใจได้ว่ายังเป็นหนุ่ม ยังอยู่ไกลจากความตาย อายุคนนั้นสั้นนัก เหมือนอายุของปลาในเวลาที่น้ำน้อย"
    พระราชาตรัสขอให้พระเตมีย์กลับไปครองราชสมบัติ ทรงกล่าวชักชวนให้นึกถึงความสุขสบายต่างๆ พระเตมีย์จึงตรัสตอบว่า "วันคืนมีแต่จะล่วงเลยไป ผู้คนมีแต่ จะแก่ เจ็บและตาย จะเอาสมบัติไปทำอะไร ทรัพย์สมบัติและ ความสุขทั้งหลายเอาชนะความตายไม่ได้ อาตมาพ้นจาก ความผูกพันทั้งหลายแล้ว ไม่ต้องการทรัพย์สมบัติอีกแล้ว"
   เมื่อพระราชาได้ยินดังนั้น จึงเห็นประโยชน์อันใหญ่ยิ่ง ในการออกบวช ทรงประสงค์ที่จะละทิ้งราชสมบัติออกบวช พระมเหสี และเสนาข้าราชบริพารทั้งปวง รวมทั้งบรรดา ประชาชนทั้งหลายในเมืองพาราณสี ก็พร้อมใจกันออกบวช บำเพ็ญเพียรโดยทั่วหน้ากัน เมื่อตายไปก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ พ้นจากความผูกพัน ในโลกมนุษย์ ทั้งนี้เป็นด้วยพระเตมีย์กุมาร ทรงมีความอดทนมีความตั้งใจ อันมั่นคงแน่วแน่ในการที่ไม่ก่อเวร ทำบาป ทรงมุ่งมั่นอดทน จนประสบผลสำเร็จดังที่หวัง เหมือนดังที่ทรงรำพึงว่า
   " ผู้ที่ไม่ใจเร็วด่วนได้ ผู้ที่มีความอดทน ย่อมได้รับผลสำเร็จด้วยดี "

วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นางยักษ์ กาลี ตอนที่2

หญิงสาวที่เป็นเมียน้อยหลังจากตั้งท้องถึง 2 ครั้งและเกิดการตกเลือดทั้ง 2 ครั้ง ก็เริ่มสงสัยในความผิดปกติเกี่ยวกับอาหารและยาบำรุงที่เมียหลวงปรุงให้ดื่มใ้ห้ทานเป็นประจำ แต่ก็ไม่มีหลักฐานพิสูจน์เอาผิดได้ ก็ทำได้แต่นำเรื่องที่ตนสงสัยไปปรึกษากับญาติฝ่ายตน ทางญาติลงความเห็นว่ามีโอกาสที่เมียหลวงมีประสงค์ร้ายโดยแอบนำยาที่เป็นภัยกับคนท้องมาผสมให้เมียน้อยกิน จึงกำชับว่าหากเกิดตั้งท้องอีกครั้ง ให้เธอไม่ต้องบอกใครจนกว่าท้องจะโตขึ้นมาเองและให้คอยระวังตัวให้มากเป็นพิเศษ
เมียน้อยผู้นี้เมื่อเริ่มตั้งท้องอีกครั้งก็คอยระวังตัวเรื่องอาหารการกินและยาบำรุงเป็นพิเศษ ทางด้านเมียหลวงเมื่อเห็นความผิดปกติของเมียน้อยก็รู้เลยว่านางคงรู้ตัวหรือสงสัยจึงคอยระวังตัวมาก จนไม่ยอมบอกว่าได้ตั้งท้องอีกครั้ง   นางเริ่มคิดวางแผนใหม่ที่จะกำจัดลูกในท้องของเธอให้ได้  แต่ครั้งนี้ไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา เพราะคนท้องมีความระวังตัวมาก ไม่เปิดช่องโหว่ให้ใครทำอะไรได้เลย สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้เมียหลวงเป็นที่สุด....จนกระทั่งในที่สุดโอกาสก็มาถึงเพราะนางเฝ้ารอโอกาสตลอดเวลา คราวนี้เมียหลวงก็ทำสำเร็จสามรถผสมยาลงในน้ำดื่มให้เมียน้อยดื่มจนได้..แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะท้องนางได้แก่ใกล้คลอดแล้ว ฤทธิ์ยาทำปฏิกิริยากับเ็ด็กในท้องทำให้เด็กนอนขวางช่องคลอดและตายอยู่ในท้องพร้อมกับสร้างความเจ็บปวดให้แม่และทำให้แม่ทนความเจ็บปวดทรมานไม่ไหวสิ้นใจตายไปเช่นกัน
ด้านเมียน้อยก่อนตายได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสและได้อธิฐานขอจองเวรกับเมียหลวงตลอดทุกชาติไป พอสิ้นใจลงก็ได้ไปเกิดเป็นแมวตัวเมียอยู่ที่บ้านหลังนี้นั่นเอง..ทางด้านสามีของนางทั้งสอง เมื่อได้ทราบความจริงทุกอย่างก็มีความโกรธแค้นมาก ได้ลงโทษเมียหลวงที่ทำร้ายเมียน้องและลูกถึงกับชีวิต ให้ตายตกไปตามกัน เมียหลวงเมื่อถูกผัวฆ่าตายแล้วตัวก็ได้ไปเกิดเป็นแม่ไก่อยู่ที่บ้านหลังเดิมนี่แหละ
จุดเริ่มต้นของเรื่องวุ่นวาย เพราะแรงอาฆาตและการจองเวร  เมียหลวงที่เกิดใหม่เป็นแม่ไก่ในบ้านหลังเดิมถึงจะฟักไข่มากี่ครั้งก็โดนแมวที่เป็นเมียน้อยในชาติที่ผ่านมาโขมยลูกไก่ไปกินทุกครั้งเป็นอย่างนี้ถึง สามครั้ง ด้านแม่ไก่ก็ผูกพยาบาทอธิฐานขอให้เกิดเป็นสัตว์อะไรก็ได้ที่จะทำร้ายแมวได้ ชาติต่อมานางก็เกิดเป็นแ่ม่เสือ ส่วนนางแมวไปเกิดเป็นแม่เนื้อ แม่เนื้อคลอดลูกน้อย สามครั้งก็โดนแม่เสือมากินทุกครั้ง แม่เนื้อผูกพยาบาทตายจากชาตินั้นก็ไปเกิดเป็นนางยักษิณี ส่วนแม่เสือเกิดเป็นหญิงชาวบ้านธรรมดา เมื่อหญิงชาวบ้านคลอดลูก ทางนางยักษ์ก็แอบมาเอาลูกของเธอไปกินถึงสองครั้ง
พอครั้งที่สาม คราวนี้หญิงชาวบ้านแอบหนีไปคลอดลูกที่บ้านเกิดของเธอโดยที่นางยักษ์ไม่ทันรู้ตัว แต่ด้วยแรงแห่งการผูกเวร นางก็สามารถสืบหาจนทราบว่าหญิงชาวบ้านคนนั้นไปคลอดลูกแล้วอยู่ที่ใด
วันหนึ่งหญิงชาวบ้านคู่เวรของนางยักษ์เมื่อคลอดลูกแล้วก็ชวนสามีกลับ ขณะที่เดินทางมาถึงหน้าวัน เชตวัน สามีขอลงสระน้ำหน้าวัดเพื่อชำระร่างกาย  ขณะที่สามลงเล่นน้ำอยู่  นางยักษ์เกิดมาเจอหญิงอุ้มลูกรอสามีอยู่ก็รีบปรี่เข้าหาเพื่อแย่งเด็กในอ้อมกอดแม่  ฝ่ายผู้เป็นแม่เห็นดังนั้นก็ร้องเรียกสามมีให้มาช่วย เมื่อดูแล้วว่าสามีมาช่วยไม่ทันแน่จึงวิ่งหนีเข้าไปในวันเชตวัน
เวลานั้นพระศาสดากำลังประทับแสดงธรรมอยู่ เธอนำลูกไปวางไว้ใกล้พระบาทร้องไห้คร่ำครวญว่า"ข้าแต่พระองค์ ขอทรงโปรดช่วยเด็กคนนี้ด้วยเถิดเจ้าข้า"
นางยักษ์วิ่งไล่มากระชั้นชิดพอถึงประตูวัดก็ไม่อาจเข้าไปได้ เพราะสุมนเทพ ผู้เฝ้าประตูไม่ให้เข้า
พระศาสดาทรงทราบเรื่องราวจึงให้พระอานนท์ไปนำนางยักษ์เข้ามา  เมื่อหญิงนั้นเห็นยักษ์เข้ามาก็ตกใจหวาดกลัว พระศาสดาจึงบอกว่าไม่ต้องกลัว ณ ที่แห่งนี้นางยักษ์ไม่สามรถทำอันตรายใครได้ แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสกับทั้งนางยักษ์และหญิงแม่ลูกอ่อนว่า" ดูกร ยักษิณีและกุลธิดา เพราะเหตุไรเจ้าทั้งสองจึงจองเวรกันเช่นนี้ ถ้ามิได้พบพระพุทธเจ้าเช่นเรา เวรของเจ้าทั้งสองก็จะดำรงอยู่ชั่วกัปป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน,หมีกับไม้ตะคร้อ,และกากับนกเค้า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า"
จากนั้นพระศาสดาก็เทศนาโปรดนางยักษ์ต่อจนจบ กระทั่งนางยักษ์ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นโสดาบันเป็นผู้มีศีล ห้า สมบูรณ์ พระศาสดารับสั่งให้หญิงชาวบ้านคนนั้นส่งลูกให้นางยักษ์เพื่อพิสุจน์ หญิงนั้นก็กลัว พระศาสดาตรัสว่า"อย่ากลัวเลย อันตรายจากนางยักษ์ไม่มีแล้ว "  นางจึงส่งลูกให้ นางยักษ์รับเด็กไปกอดจูบแล้วร้องไห้ใหญ่  พระศาสดาตรัสถามว่าร้องไห้ทำไม  นางตอบว่า "ข้าแต่พระองค์  เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้าหากินอย่างไม่เลือกก็ยังไม่ค่อยจะิอิ่ม จากนี้ไปข้าพระพุทธเจ้าจะมีชีวิตอยู่อย่างไร"
พระศาสดาตรัสให้หญิงนั้นนำยักษ์ไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน ให้ข้าวให้น้ำและอุปการอย่างดี
ฝ่ายนางยักษ์เมื่อมาอยู่กับหญิงนั้นแล้ว เขาก็เลี้ยงดูแลอย่างดี นางก็ตอบแทนโดยการบอกล่วงหน้าว่าปีใหนน้ำมากก็ให้ทำนาที่ดอน  ปีไหนจะมีน้ำน้อยก็ให้ทำนาในที่ลุ่ม หญิงนั้นก็ทำตามทุกอย่างทำให้นางได้ข้าวดีทุกปี
พอชาวบ้านทั้งหลายทราบเรื่องก็พากันมาถามนางยักษ์บ้าง นางก็บอกไปทุกคน ทำให้ชาวบ้านทำนาได้ผลผลิตดีทุกครัวเรือน ก็พากันนำอาหาร ผัก ผลไม้ มาตอบแทนนางยักษ์เป็นอันมาก ทั้งสองฝ่ายจึงมีอุปการะซึ่งกันและกันด้วยประการฉะนี้

วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นางยักษ์ กาลี

การระงับเวรด้วยการไม่จองเวร
น หิ เวรน เวรานิ     สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ   เอส ธมฺโม สนนฺตโนฯ
ในกาลไหนๆ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร  นี่เป็นธรรมเก่า
เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ธรรมข้อนี้ใครๆก็ต้องรู้จักไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่ถามหน่อยว่ามีซักกี่คนที่เข้าใจหลักธรรมและนำมาปฏิบัตใ้ห้ได้ในชีวิตจริง ผมเองก็รู้และเข้าใจความหมาย แต่ถึงเวลามันมีเหตุให้เกิดขึ้นกับตัวเองกลับทำไม่ได้อย่างที่ปากคอยพร่ำบ่น ว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร  การผูกเวรหรือผูกใจเจ็บใครซักคนที่เขาทำให้เราไม่พอใจยอมรับเลยว่าเมื่อใดที่มันเกิดขึ้นกับเรา มันทำให้เรารู้สึกร้อนรุ่มในอกมีความอยากจะทำอะไรตอบโต้คนคนนั้นเพื่อความสะใจของเรา   แต่เมื่อได้ทำไปแล้วไม่ว่าจะเป็นการโต้เถียง หรือด่าตอบโต้ หรือทำอะไรก็ตามให้คนที่เราแค้นได้เจ็บตัวหรือเจ็บใจ ผลลัพท์ที่เกิดกับเรามันทำให้เราสบายใจ หรือมีความสุขขึ้นมั้ย, ก็ไม่เลย...กลับทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายไปกันใหญ่  พระท่านสอนว่าให้เรารู้จักให้อภัยและแผ่เมตตาให้เขาเสมอๆความผูกใจเจ็บจะระงับลงได้ในเวลาไม่นาน....ก็จริงอย่างท่านว่าน่ะ..แต่...อยู่ที่เราจะทำตามได้มั้ย..นั่นอยู่ที่ใจและตัวเราเอง
  
   
      ที่เมืองสาวัตถี ชายหนุ่มผู้หนึ่งอาศัยอยู่กับแม่สองคน เพราะพ่อได้เสียไปนานแล้ว ตัวเขาต้องทำมาหากินเลี้ยงดูแม่ตามลำพัง ฝ่ายแม่เกิดนึกสงสารลูกอยากให้ลูกทำอะไรเพื่อตัวเองบ้าง จึงแนะนำให้ลูกหาเมียซักคนจะได้ช่วยแบ่งเบางานให้้ลูกชายบ้าง (ไม่รู้แบ่งเบาจริงรึปล่าว) ส่วนลูกชายบอกยังไม่อยากมีปรามแม่อยู่หลายครั้งแม่ก็ยังยืนยันคำเดิม ว่าอยากเห็นลูกมีความสุขกับคนอื่นเขาบ้าง ลูกชายเลยต้องยอมแพ้ ทำตามคำที่แม่ขอร้อง ในที่สุดก็ได้เมียที่เป็นหญิงสาวในเมืองนั้นเอง แต่เรื่องราวยังไม่จบ หญิงที่แต่งเข้ามาเมื่ออยู่กันไปกลับทราบว่าเธอเป็นหมัน ไม่สามารถมีลูกได้ ทำให้แม่เกิดกลุ้มใจเรื่องนี้อีกเพราะตนอยากให้ลูกชายมีหลานให้ตนเพื่อสืบสกุล ก็ได้ไปแนะนำลูกชายอีกว่า เมียคนนี้ไม่สามารถมีลูกให้ได้แม่คิดว่าจะไปขอเมียให้อีกคน เพื่อเราจะได้มีคนสืบสกุล ลูกชายไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้และคอยคัดค้านแม่ทุกครั้งที่พูดเรื่องนี้    ทางด้านฝ่ายเมียเมื่อแอบได้ยินแม่สามีและสามีคุยกันก็รู้ทันทีว่าไม่นานสามีตนต้องยอมทำตามคำแนะนำของแม่เป็นแน่แท้  ใจเลยคิดว่า หากสามีตนมีเมียใหม่เข้าบ้าน ตนเองคงต้องกลายเป็นหมาหัวเน่าและหมดความสำคัญในที่สุด  อย่ากระนั้นเลย เมียใหม่คนนี้ตนจะเป็นคนจัดหามาให้ดีกว่าเพื่อที่เราจะสามารถควบคุมให้อยู่ใต้อำนาจเราได้  เมื่อคิดได้อย่างนี้ นางเลยไปติดต่อหญิงสาวที่คุ้นเคยและสนิทกันกับนางให้มาเป็นเมียน้อยสามีตน เรื่องก็เลยลงเอยด้วยดี
อยู่กันแรกๆก็ดีไม่มีปัญหาอะไร แต่พอนานเข้า จิตริษยาของทางเมียหลวงที่มีต่อเมียน้อยยิ่งเพิ่มมากขึ้นๆทุกวัน ด้วยที่เมียน้อยได้รับการเอาใจใส่จากแม่สามีและสามีเป็นอย่างดี นี่ขนาดยังไม่ตั้งท้องน่ะถ้าเกิดท้องและได้ลูกเมื่อไหร่ นางคงหมดความหมายไปเลย  "ไม่ได้การแล้ว เราต้องทำอะไรซักอย่าง" เมียหลวงคิด
ในที่สุดวันที่เมียหลวงกลัวก็มาถึง เมียน้อยเริ่มตั้งครรภ์อ่อนๆทำให้ทุกคนในบ้านมีความยินดีนัก เมียหลวงที่มีความระแวงและอิจฉาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วสุดท้ายก็ได้เริ่มแผนการที่จะทำลายลูกในครรภ์ของเมียน้อย  โดยได้พูดจากับเมียน้อยซึ่งก็เป็นเด็กในคอนโทรลของตัวเองว่า"เรื่องยาบำรุงหรืออาหารการกินของเธอ พี่จะเป็นคนคอยดูและให้น่ะไม่ต้องให้น้องลำบาก"  ด้วยความไว้ใจและไม่เอะใจฝ่ายเมียน้อยก็ยอมให้เมียหลวงจัดการเรื่องอาหารการกินและยาบำรุงให้ตน  เพราะเหตุนี้เรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ก็คือทางเมียน้อยพอตั้งท้องได้สองเดือนก็เกิดแท้งลูกโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นอย่างนี้ถึงสองครั้ง  นางเริ่มผิดสังเกต ครั้นพอรู้ตัวว่าครั้งที่สามนี้จะตั้งท้องอีกครั้งก็เลยเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับไม่บอกใคร แต่ไ้ด้เล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่และญาติของตนทราบ ฝ่ายญาติๆของตนเลยลงความเห็นว่านางไม่ควรจะมองข้ามพฤติกรรมของเมียหลวง จากนี้ไปให้ระมัดระวังตัวเป็นพิเศษอย่าใว้วางใจให้มากนัก นางรับปากญาติทั้งหลายว่าจะทำตามคำแนะนำและจะคอยระวังตัวอย่างดีที่สุด        
      

เรื่องของเ็ด็กหนุ่มชื่อ มัฏฐกุณฑลี

     มัฏฐกุณฑลี(มัด-ทะ-กุน-ทะ-ลี) เป็นเด็กหนุ่มเมืองสาวัตถี เกิดในตระกูลพราหมณ์ พ่อแม่เป็นคนรวยมากแต่สุดยอดของความขี้เหนียว จนชาวบ้านให้สมญานามว่า "อนินนปุพพกะ" แปลว่า "ผู้ไม่เคยให้อะไรแก่ใครเลย" แต่ถึงกระนั้นก็ยังอุตส่าเอาทองคำบริิสุทธิมาทำเป็นต่างหูให้ลูกชาย คนทั้งหลายจึงเรียกเด็กผู้นี้ว่า มัฏฐฑกุณฑลี ซึ่งแปลว่า "มีตุ้มหูเกลี้ยง" ตุ้มหูนี้พ่อเป็นคนลงมือทำให้เองไม่ได้จ้างช่างทองที่ไหนเพราะว่ากลัวจะเปลือง
     มัฏฐกุณฑลี เมื่ออายุได้ 16 ปีก็เกิดป่วยหนักเป็นวัณโรค คนยุคนั้นเรียกว่าโรคผอมเหลือง นอนซมทรมานอยู่หลายวัน คนเป็นพ่อกลับไม่พาไปหาหมอเพราะกลัวจะสิ้นเปลืองเงินทอง ฝ่ายแม่อ้อนวอนเท่าไรก็ไม่ยอมใจอ่อน  อย่างดีก็แค่ไปถามหมอว่าคนที่มีอาการของโรคอย่างนั้นอย่างนี้ต้องให้กินยาอย่างไรหรือยาอะไร จากนั้นเขาก็เข้าป่าไปหาสมุนไพร รากไม้ ใบไม้ ที่เป็นตัวยาที่หมอแนะนำ มาผสมต้มทำเป็นยาให้ลูกดื่มกินแทนที่จะพาไปรักษา 
     มัฏฐกุณฑลี อาการไม่ดีขึ้นเลย มีแต่ทรุดกับทรุดลงทุกวัน จนไม่สามารถที่จะเยียวยาได้ สุดท้ายพราหมณ์ผู้เป็นพ่อต้องยอมแพ้ในที่สุด ตัดใจไปตามหมอในหมู่บ้านให้มารักษาลูกชาย  แต่พอหมอมาเห็นอาการของคนไข้แล้วก็รู้ทันทีว่าหมดปัญญาจะรักษาให้ได้ จึงปฏิเสธการรักษาทุกรายไป 
     พ่อแม่ของมัฏฐกุณฑลี รู้แน่และทำใจเผื่อไว้แล้วว่าลูกชายตนคงไม่รอด  ขนาดนั้นฝ่ายพราหมณ์คิดกังวลไปถึงเรื่องเมื่อมีญาติพี่น้องหรือคนทั่วไปที่จะมาเยี่ยมอาการของลูกชายเกิดเขาเข้ามาในบ้านอาจจะมาพบเห็น สมบัติของตนที่มีมากมาย และอาจทำให้คนเหล่านั้นมีความโลภแล้วคิดไม่ซื่อกับสมบัติตนจะเป็นอันตรายเสี่ยงต่อความสูญเสีย ทรัพย์สมบัติที่ตนอุตส่าเฝ้าทะนุถนอมมานาน จึงให้คนรับใช้ ช่วยกันหามลูกชายไปนอนพักรักษาที่ลานหน้าบ้าน เผื่อใครที่คิดจะมาเียี่ยมจะได้ไม่ต้องเข้าไปในตัวเรือนบ้าน
     ในวันนั้น พระพุทธเจ้า ทรงเข้าฌาน ตรวจดูสัตว์โลก ก็ทรงทราบถึงอุปนิสัยของคนที่พระองค์ควรจะโปรด ทรงเห็นอุปนิสัยของ มัฏฐกุณฑลีว่าเป็นบุคคลที่สมควรโปรดพระองค์จึงเสด็จมาหา
     ขณะที่พระองค์เสด็จมาถึงหน้าบ้านที่ เด็กหนุ่มนอนรักษาตัวอยู่ ฝ่ายมัฏฐกุณฑลี กลับอยู่ในท่าที่นอนหันหน้าเข้าบ้านหันหลังไปทางที่พระองค์ประทับยืนอยู่ พระพุทธเจ้ารู้ว่าเด็กหนุ่มไม่เห็นพระองค์แน่จึงกระทำการเปล่งแสงรัศมีไปวาบหนึ่ง  มัฏฐกุณฑลี รับรู้ถึงพลังแห่งพุทธานุภาพได้ในทันที จึงหันหน้ามามอง ก็ได้พบกับพระศาสดา พลันเกิดความรู้สึกทดท้อในใจว่า "เหตุที่เพราะพ่อเราเป็นคนตระหนี่ี่ถี่เหนียว มีนิสัยเป็นคนพาล ช่วงที่เรามีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงก็เลยไม่เคยได้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีประภาคเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐมิได้ถวายทาน หรือฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเลย มาบัดนี้แม้แต่จะยกมือกราบพระบาทก็ยังทำไม่ได้" เมื่อคิดได้อย่างนั้นก็ทำใจละลึกในพระพุทธคุณและน้อมจิตให้เกิดศัทธาและเลื่อมในพระศาสดา
     พระพุทธองค์เมื่อทราบว่า มัฏฐกุณฑลี สามารถทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์ได้แล้วก็เสด็จออกไป พอลับตาเท่านั้น เด็กหนุ่มก็สิ้นชีพแล้วไปเกิดในวิมานทอง เสมือนว่าหลับแล้วตื่นขึ้นมายังอีกที่หนึ่ง
     กล่าวฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นพ่อ หลังจากสูญเสียลูกชายและได้จัดการฌาปนกิจศพเรียบร้อยแล้วก็เอาแต่ไปยืนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ที่ป่าช้าที่ฝังศพลูกชาย ทุกวันคืนไปเป็นอันทำอะไร 
     ทางด้านเทพบุตรมัฏฐกุณฑลี หลังจากรู้สึกตัวอย่างสมบูรณ์ในเทวโลกแล้ว ก็พิจารณาถึงทิพยสมบัติของตนแล้ว ก็รู้เห็นโดยตลอดว่าได้มาเพราะตนได้ทำจิตให้เลื่อมใสในพระศาสดาก่อนสิ้นลมหายใจ  ได้มองลงมาเห็นพราหมณ์บิดายืนร้องไห้ที่ป่่าช้า จึงแปลงกายลงมาเป็นมนุษย์หน้าตาคล้ายตนเองตอนยังไม่สิ้นชีวิตยืนกอนแขนร้องไห้เช่นกันแต่อยู่อีกฟากตรงข้ามกับพราหมณ์บิดา
     พราหมณ์เมื่อได้ยินเสียงคนร้องไห้ หันไปมองก็เห็นเด็กหนุ่มหน้าตาคล้ายบุตรตนจึงเดินเข้าไปหา
     "พ่อหนุ่ม, ดูท่านละม้ายคล้ายบุตรข้าพเจ้ามาก ท่านมายืนร้องไห้เพราะมีทุกข์อันใดรึ"
     "แล้วท่านล่ะ มีทุกข์อันใด" หนุ่มน้อยถามกลับ
     "ข้า โศรกเศร้าถึงบุตรคนเดียวของข้าที่ตายจากไป"
     "ส่วนข้าพเจ้า.. มีรถอยู่คันหนึ่ง ตัวรถเป็นทองคำล้วนผุดผ่องสวยงาม แต่ข้าพเจ้าหาล้อที่เหมาะสมกับตัวรถไม่ได้ ข้าพเจ้าคงต้องตรอมใจตายเพราะเรื่องนี้แน่ๆ"
     พราหมณ์ตกตะลึงในคำตอบของหนุ่มน้อย ครู่หนึ่งจึงกล่าวว่า"เด็กเอ๋ยเด็กน้อย! เจ้าต้องการล้อเงินหรือล้อทองล่ะ หรือแก้วมณีหรือโลหะก็บอกมาเถิด ข้าสัญญาว่าจะหามาให้เจ้า"
     เทพบุตรมัฏฐกุณฑลีคิดในใจว่า"พราหมณ์นี้ช่างเป็นไปได้ เมื่อตอนลูกของตัวเองป่วยหนักนั้น ไม่ยอมเสียเงินรักษาแม้แต่น้อย มาบัดนี้จะยอมจ่ายค่าล้อรถให้ไม่ว่าเป็นล้อเงินหรือล้อทอง...พราหมณ์ผู้นี้เป็นอันธพาลจริงๆ ...แต่เอาเหอะ เราจะล้อแกเล่นสักเล็กน้อย" 
     "ท่านพราหมณ์! จะหาสิ่งใดมาคู่ควรกับรถข้าพเจ้าไม่มีอีกแล้ว นอกจาก พระอาทิตย์กับพระจันทร์ ถ้าได้มาทั้งคู่ รถของข้าพเจ้าคงจะงามเยี่ยมหาสิ่งใดเทียมได้"
     พราหมณ์คิดในใจว่า เด็กหนุ่มคนนี้คงเป็นบ้าแน่ๆจึงกล่าวว่า"เจ้าต้องการสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้ เจ้าโง่เขลาเบาปัญญาเิกินไป ตายไปแล้วสักกี่ชาติเจ้าก็ไม่อาจนำเอาดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์มาทำล้อรถได้หรอก"
     เด็กหนุ่มกลับตอบย้อนไปว่า"ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ยังปรากฎให้ข้าพเจ้าเห็นอยู่ ข้าพเจ้ายังต้องการสิ่งที่พอมองเห็นได้ แต่ท่านร้องไห้คร่ำครวญต้องการสิ่งที่มองไม่เห็นนั่นคือ ลูกชายที่ตายไปแล้ว ท่านว่าระหว่างเราใครบ้ากว่ากัน"
     พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นก็ได้สติ ยอมรับว่าเด็กหนุ่มพูดมาก็ถูก ตนเป็นคนโง่เขลากว่า เพราะต้องการสิ่งที่มองไม่เห็นและไม่มีใครเคยเรียกคืนมาได้  พราหมณ์ได้กล่าวชมเชยกับหนุ่มนั้นว่า "ข้าเป็นผู้ที่กำลังร้อนรุ่มนัก ส่วนเจ้าคือคนที่ได้นำน้ำเย็นมารดราดคือความเห็นถูกให้ข้ากลายเป็นผู้เย็น เหมือนดังว่าเจ้านำน้ำมาดับไฟ ความกระวนกระวายทั้งปวงของข้าดับลงแล้ว ความเศร้าคิดถึงลูกก็บรรเทาลง คำของเจ้าประเสริฐนักช่วยดับความร้อนและความเศร้าในใจของข้าได้"แล้วพราหมณ์ก็ได้ถามว่าหนุ่มน้อยนี้เป็นใครมาจากใหน  เทพบุตรมัฏฐกุณฑลี ก็บอกเขาไปตามตรงว่าเขาคือลูกชายของพราหมณ์ที่ตายไป ก่อนตายได้ทำกุศลอย่างใหญ่หลวงจึงได้ไปเกิดเป็นเทพ พราหมณ์สงสัยว่า อยู่ด้วยกันมาไม่เคยเห็นลูกชายตนทำทานหรือรักษาศีลอันใดเลย แล้วไปเกิดเป็นเทพด้วยบุญอะไร 
      เทพบุตรเลยเล่าเรื่องที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดถึงที่บ้านให้พราหมณ์ได้ฟัง เมื่อได้ฟังเรื่องราวแล้วทำให้พราหมณ์รู้สึกยินดีปราโมชเป็นอย่างยิ่งแล้วกล่าวว่า" น่าอัศจรรย์ใจจริงๆ การทำอัญชลีกรรมแด่พระพุทธเจ้ามีผมถึงปานนี้ ข้าพเจ้าขอน้อมใจให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้านับแต่บัดนี้เป็นต้นไป  พราหมณ์ได้ปฏิญาณกับเทพบุตรว่า ตนจะรักษาศีล ให้ทานและเลื่อมในพระรัตนตรัย แล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่ออาราธนาให้ไปเสวยภัตตาหารที่เรือนของตนในวันรุ่งขึ้น
      ณ เรือนของพราหมณ์ในวันต่อมา เมื่อพระพุทธองค์เสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว พราหมณ์ได้ทูลถามพระศาสดาว่า "เหตุใด บุคคลที่ไม่เคยถวายทานแด่พระองค์ ไม่่ได้บูชาพระองค์ ไม่ได้รักษาอุโบสถ แต่ได้ไปเกินในสวรรค์ ด้วยเหตุเพียงการทำจิตให้เลื่อมในในพระองค์อย่างเดียว"
      "พราหมณ์..ท่านถามเรื่องนี้กับเราอีกทำไม  ในเมื่อมัฏฐกุณฑลีก็ชี้แจงแก่ท่านไปแล้วนี่"
      พระศาสดาทรางทราบว่ามหาชนที่มาประชุมกัน ณ ที่นีั้ ยังไม่สิ้นสงสัยจึงทรงอธิษฐานให้มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรลงมาจากวิมาน แล้วพระองค์ก็สัมภาษณ์เรื่องราวต่างๆ และเทพบุตรก็ตอบตามความจริงทุกประการ
      มหาชนได้รับฟังการถามตอบระหว่างพระศาสดากับเทพบุตรแล้ว อุทานออกมาด้วยความปีติโสมนัสและเลื่อมในเป็นอย่างยิ่ง"ท่านทั้งหลาย ณ ที่นี่้ บุตรของพราหมณ์ไม่ได้ทำบุญอย่างอื่นเลย เพียงแต่ทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเท่านั้นยังได้อริยทรัพย์ถึงเพียงนี้ พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณน่าอัศจรรย์นัก

     พระศาสดาจึงตรัสพระภาษิตว่า


     " สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ฯลฯ ถ้าใจดี ใจผ่องใส การทำ การพูดก็พลอยดีไปด้วย เพราะความดีนั้น ความสุขก็ติดตามมาเหมือนเงาตามตน"
 




วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระจักขุบาล 3

     ท้าวสักกะซึ่งเป็นเทพชั้นดาวดึงส์เกิดร้อนใจเพราะเดชแห่งศีลของพระจักขุบาล จึงแลลงมายังโลกมนุษย์ เห็นพระเถระกำลังลำบาก จึงเสด็จลงมาโดยปลอมตัวเป็นคนเดินทางเพื่อช่วยพระเถระ
     "นั่นใคร" พระเถระได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินจึงถามไป
     "ข้าพเจ้าเป็นคนเดินทาง ผ่านมาทางนี้" ท้าวสักกะตอบ
     "ท่านจะไปไหนอุบาสก"
     "จะไปเมืองสาวัตถีพระคุณเจ้า แล้วพระคุณเจ้าเล่าจะไปที่แห่งใด"
     "อาตมาจะไปเมืองสาวัตถีเช่นกัน"
     "ถ้าอย่างนั้นนิมนต์ไปกับข้าพเจ้าเถิด"
     "อาตมาเป็นคนตาบอด ท่านเดินทางร่วมกับอาตมาจะทำให้ท่านเดินทางล่าช้า"
     "ไม่เป็นไร-พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าไม่มีกิจธุระรีบร้อนอันใด อีกอย่างหนึ่ง มีพระคุณเจ้าไปด้วยข้าพเจ้ากลับได้บุญประการหนึ่งใน 10 ประการ นั่นคือ ไวยาวัจจมัย บุญอันได้จากการขวนขวายในกิจที่ชอบ"
     พระจักขุบาล ทราบได้ในทันทีว่าบุคคลผู้นี้เป็นสัตบุรษจึงยื่นปลายไม้เท้าให้ออกเดินทางมุ่งสู่เมืองสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศล  และได้ถึงสาวัตถีในเย็นวันนั้น
     เมื่อมาถึงเมืองสาวัตถีพระเถระรู้สึกสงสัยว่าทำไมมาถึงไวผิดปกติ จึงถามคนนำทางว่า ทำไมถึงเร็วนัก ท่านผู้นั้นตอบว่าเขานั้นรู้ทางลัดที่ย่นระยะทางได้มาก  พระเถระจึงรู้ว่าท่านผู้นี้ไม่ใช่คนธรรดาแต่เป็นเทพเจ้า  ท้าวสักกะ(ผู้นำทาง) ได้นำพาพระเถระไปยังศาลาที่ จุลบาล  น้องชายของพระเถระได้สร้างไว้ และได้นำเรื่องที่พระจักขุบาลมาถึงแล้วแจ้งให้จุลบาลทราบ
    ฝ่ายจุลบาลเมื่อมาพบสภาพที่พี่ชายตาบอดทั้งสองข้างก็อดกลั้นความโศกไม่ได้เอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญ รำัพันว่า"เพราะอย่างนี้ไงเล่า กระผมจึงไม่ยอมให้ท่านบวช ในครั้งนั้นก็พยายามห้ามแล้วท่านก็ไม่เชื่อกระผม"
    "จุลบาล! เรื่องมันล่วงเลยมาแล้ว อย่าคิดอะไรเลย มันเป็นเรื่องของกรรม" พระเถระปลอบน้องชาย
    จุลบาลได้ปลดปล่อยเด็กทาส สองคนให้เป็นไท แล้วให้บวชเป็นสามเณรเพื่อคอยรับใช้พระจักขุบาล
   

    ในเย็นวันหนึ่งมีภิกษุหลายรูปมาจากต่างถิ่นสู่วัดเชตวันเพื่อเฝ้าพระศาสดา ขณะที่เดินชมสถานที่ต่างๆจนมาถึงกุฏิที่พักของพระจักขุบาลฝนเกิดตกลงมา จึงพากันกลับไปก่อนยังไม่ทันที่จะได้เข้าเฝ้าพระศาสดาแต่ก็ตั้งใจว่ารุ่งเช้าจะกลับมาใหม่  ในยามดึกหลังฝนหยุดตกวันนั้น พระจักขุบาล ได้กระทำกิจการเดินจงกรมหน้าที่พัก เกิดเดินเหยียบแมลงเต่าทองตายไปเป็นอันมาก
     พอตอนรุ่งเช้า ศิษย์ของท่านยังไม่ทันจะได้เก็บกวาดทำความสะอาดในที่จงกรมนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะได้ผ่านมาเห็นแมลงตายไปเป็นอันมาก จึงถามว่าเป็นที่จงกรมของใคร เมื่อรู้ว่าเป็นที่ของพระจักขุบาล จึงนำเรื่องทั้งปวงทูลแก่พระศาสดาทั้งสิ้น
     พระศาสดาถามว่า เห็นพระจักขุบาลเหยียบสัตว์หรือ
     "ไม่เห็นพระเจ้าข้า"
     "ดูก่อนภิกษุ! เธอไม่เห็นจักขุบาลเหยียบสัตว์ฉันใด จักขุบาลก็ไม่เห็นสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นเหมือนกัน ธรรมดาพระอรหันต์ ย่อมไม่เจตนาฆ่าสัตว์"
     ภิกษุทั้งหลายจึงถามว่า พระจักขุบาลเป็นถึงพระอรหันต์เหตุไฉนจึงตาบอด
     พระศาสดาตอบว่า"เหตุทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดแก่พระจักขุบาลนั้น เป็นเพราะกรรมเก่า" แล้วทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังถึงอดีตชาติของพระจักขุบาลดังนี้....
     ในอดีตกาล ณ เมืองพาราณสี มีหมอยาผู้หนึ่งเที่ยวรักษาคนไข้ตามหมู่บ้านและนิคมต่างๆ วันหนึ่งได้พบกับหญิงตามืดตามัวคนหนึ่ง จึงอาสาช่วยรักษาให้ หญิงผู้นั้นก็ยินดี หมอถามว่าหากรักษาหายแล้วจักมีสิ่งใดตอบแทนเขาไ้ด้บ้าง หญิงนั้นตอบว่า ตนพร้อมบุตรธิดาจะยอมเป็นทาสของหมอ  หมอจึงปรุงยารักษาให้โดยการหยอดยาเพียงครั้งเดียวหญิงนั้นก็หายจากอาการตามัวมืด
      แต่หญิงนั้นเมื่อตาหายดีแล้วกลับคิดจะบิดพลิ้ว ไม่ยอมเป็นทาสของหมอตามสัญญา เมื่อหมอถามถึงอาการเธอแกล้งบอกว่า เมื่อก่อนตาเธอจะเจ็บเล็กน้อย แต่พอหยอดยาของหมอไปแล้วกลับเจ็บปวดมากกว่าเดิม   หมอรู้ได้ในทันทีว่า หญิงผู้นี้คิดไม่ซื่อ ไม่ต้องการตอบแทนค่าจ้าง เขาคิดว่า คนอย่างนี้ต้องทำให้ตาบอดเสีย  แล้วก็กลับไปบ้านปรุงยามาใหม่นำไปให้หญิงคนไข้ของตน หญิงผู้นี้เพื่อจะแสดงละครตบตาหมอว่าตนยังไม่หายดี จึงได้หยอดตาด้วยยาที่หมอปรุงมาใ้ห้ใหม่  ทันใดนั้นหลังจากหยอดตาเรียบร้อยทั้งสองข้างพลันตาของนางก็กลับบอดสนิทในทันที

     หมอคนนั้นได้เกิดมาเป็นพระจักขุบาลในชาตินี้  พระศาสดาได้ตรัสย้ำว่า
     "ภิกษุทั้งหลาย! กรรมที่บุตรเรา(พระจักขุบาล)ทำแล้วในครั้งนั้นได้ติดตามอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้โอกาสก็ให้ผล กรรมอันบุคคลทำแล้ว ย่อมติดตามบุคคลไปเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโคฉะนั้น"
     จากนั้นพระองค์ก็ตรัสพระพุทธภาษิตว่า"สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ ถ้าใจไม่ดี การทำการพูดก็พลอยไม่ดีไปด้วย เพราะความไม่ดีนั้นเป็นเหตุ ความทุกข์ก็ติดตามมา เหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค"





      
  



  


   
  
  
   

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระจักขุบาล ตอนที่ 2

    หลังจากสูญเสียดวงตาไปแล้วพร้อมกับการบรรลุเป็นอรหัตตผลของพระมหาบาล ในเช้าวันรุ่งขี้น เมื่อภิกษุทั้งหลายทราบเรื่องก็รู้สึกเศร้าสลดใจจนน้ำตาไหล และได้ปลอบโยนท่านว่า "อย่ากังวลไปเลยพวกกระผมจะปฏิบัติต่อท่านมิให้ท่านลำบากใดเลย" ในพรรษานั้นเหล่าภิกษุทั้งหลายก็คอยปรนนิบัติดูแลพระมหาบาลอย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง เนื่องด้วยตัวท่านตาบอดทั้งสองข้าง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าพระจักขุบาลนับแต่นั้น ส่วนพระจักขุุุบาลนั้นมีหน้าที่ให้โอวาทสั่งสอนภิกษุุทั้งหลายให้สำเร็จมรรคผล ท่านได้ทำหน้าที่จนภิกษุทั้งหลายได้สำเร็จอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้้ง4 ในพรรษานั้นเอง
    เมื่อออกพรรษาแล้วภิกษุทั้งหลายต้องกลับไปเฝ้าศาสดา ณ วัดเชตวัน จึงเรียนให้พระจักขุบาลทราบและชวนไปพร้อมกัน แต่ท่านกลับบอกว่าตัวท่านตาบอดเดินทางลำบากไม่อยากให้เดือดร้อนภิกษุรูปอื่น จึงไม่ยอมเดินทางไปด้วยแต่กลับขอฝากกราบพระบาทแห่งพระศาสดาพร้อมด้วยฝากนมัสการพระมหาสาวกทั้งหลาย และได้แจ้งข้อความไปยังน้องชายให้สรรหาบุคลกลับมารับตัวท่านไป
    ส่วนจุลบาลน้องชายพระเถระเมื่อทราบความทั้งหลายก็รู้สึกเศร้าสลดเสียใจอย่างยิ่ง จึงรีบให้ลูกชายของตนซึ่งเป็นหลานพระจักขุบาลเตรียมตัวไปรับพระเถระกลับ  ระหว่างทางที่จะไปรับนั้นมีอันตรายมาก ภิกษุทั้งหลายจึงแนะนำให้ลูกชายของจุลบาลออกบวชเป็นสามเณรเสียก่อนแ้ล้วค่อยเดินทาง เมื่อเสร็จธุระแล้วจึงค่อยสึก หลังจากสามเณรได้บวชแล้วและทำการฝึกกิริยาอยู่ประมาณ 15 วัน ก็ออกเดินทาง
    เมื่อสามเณรเดินทางมาถึงหมู่บ้านก็มีชาวบ้านพาไปพบพระเถระ สามเณรได้เล่าเรื่องราวทั้งปวงให้พระจักขุบาลทราบ จากนั้นอีก 15 วันทั้งสองรูปก็ออกเดินทาง
     การเดินทางนั้นก็แสนจะลำบาก โดยที่พระจักขุบาลต้องส่งปลายไม้เท้าใ้ห้สามเณรจูงการเดินทางครั้งนี้จึงล่าช้ามาก เมื่อมาถึงชายป่าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งเขตเมือง สังกัฏฐะ สามเณรได้ยินเสียงผู้หญิงชาวบ้านที่หาฟืนอยู่บริเวณนั้นร้องเพลงก็เกิดกำหนัดพอใจในเสียงอย่างมากไม่สามารถระงับความกำหนัดได้เนื่องด้วยสามเณรมิได้มีเจตนาบวชแต่บวชเพราะมีภารกิจ  สามเณรจึงขอกแก่พระจักขุบาลว่า ขอให้รออยู่ซักครู่ตนจะไปทำธุระเล็กน้อย แล้วปล่อยปลายไม้เท้าผละไป  พอสามเณรจากไปสักครู่หนึ่ง เสียงเพลงของหญิงชาวบ้านผู้นั้นก็เงียบไป สามเณรได้เสพเมถุนกับหญิงนั้นเสียแล้ว...
     "ไปกันเถอะครับ กระผมเสร็จธุระแล้ว" พระเถระรู้ว่าเณรทำลายศีลของตนแล้วจึงว่า  "เธอไปทำอะไรอยู่ตั้งนาน เธอไม่เป็นเณรแล้วรึ?"   สามเณรนิ่งไม่พูดอะไร พระเถระถามซ้ำหลายหนก็ไม่ยอมพูดจา  พระเถระจึงกล่าวว่า "เธอไปเสียเถิด อย่าจับปลายไม้เท้าของฉันเลย เธอชั่วเกินไปไม่ควรนำทางฉัน ฉันไม่ปรารถนาให้คนชั่วอย่างเธอจับปลายไม้เท้าฉัน ฉันไม่ต้องการติดตามหลังคนชั่วอย่างเธอ"
     สามเณรเกิดสังเวชสลดใจ จึงเปลื้องจีวรออก นุ่งห่มผ้าขาวอย่างคฤหัสถ์แล้วกล่าวว่า
     "ท่านลุง บัดนี้กระผมเป็นคนธรรมดาแล้ว โปรดไปกันเถอะ"  "อย่าเลยฉันไม่ไปกับเธอ" พระเถระยังยืนยันคำเดิม
     "ท่านลุง! เมื่อกระผมบวชก็มิได้บวชด้วยศรัทธา แต่เพระบวชด้วยกลัวอันตรายระหว่างเดินทาง บวชเพื่อมารับท่าน บัดนี้ ผมเป็นคฤหัสถ์แล้ว ไปกันเถอะท่าน"
     พระเถระกล่าวว่า "คฤหัสชั่วก็ตาม บรรพชิตชั่วก็ตาม ก็ชื่อว่าชั่วเหมือนกัน เธอนั้นดำรงตนอยู่ในเพศอันสูง ควรหลีกห่างจากความชั่ว ก็ยังเว้นความชั่วมิได้ ไม่สามารถประพฤติแม้แต่ศีลให้สมบูรณ์ เมื่อเป็นคฤหัสเธอจะเป็นคนดีได้อย่างไร เธอมีรั้วยังทำลายรั้วออกไป เมื่อไม่อยู่ในเขตอันไม่มีรั้ว เธอจะหลงระเริงสักเพียงใด อย่าเลย! อย่าจับปลายไม้เท้าของฉัน ฉันไม่ต้องการเดินทางร่วมกับคนอย่างเธอ"
     หลานชายอ้อนวอนให้่ท่านเดินทางไปด้วยกันอ้างว่าหนทางมีแต่อันตรายแต่พระเถระก็ยังคงยืนกรานอยู่นั่นเองและยังกล่าวเพิ่มเติมว่า"ฉันจะนอนกลิ้งเกลือกตายอยู่ที่นี่ก็ได้แต่ไม่มีทางเดินทางร่วมกับคนอย่างเธอ เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล"
     หลานชายของท่านเกิดสังเวชสลดใจในกรรมของตน ร้องไห้คร่ำครวญเป็นการใหญ่แล้ววิ่งหายเข้าไปในราวป่า
     นี่คือความเป็นคนจริงใจเด็ดของพระจักขุบาล ตั้งแต่เรื่องที่ไม่ยอมนอนหยอดตาจนทำให้ท่านต้องสูญเสียตาทั้งสองข้างจนมาถึงเรื่องที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากหลานชายตนเพราะเห็นว่าหลานชายได้ประพฤติตนเป็นคนที่ขาดศีลธรรมแม้อยู่ในชายผ้าเหลืองแล้วก็ยังไม่เว้น
    จากนี้ไปแล้วพระจักขุบาลจะสามารถเดินทางต่อไปได้หรือไม่อย่างไร






















 










     

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระจักขุบาล

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ ถ้าใจไม่ดี การทำการพูดก็ไม่ดีไปด้วย เพราะความไม่ดีนั้นเป็นเหตุความทุกข์ก็ติดตามมาเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค


     ในเมืองสาวัตถี มีพี่น้องสองคน เป็นลูกคนรวย พี่ชื่อมหาบาล น้องชื่อ จุลบาล วันหนึ่ง มหาบาลได้ตามคนทั้งหลายไปฟังธรรมพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมในพระธรรมเทศนา วันนั้นพระศาสดาทรงพินิจเห็นอุปนิสัยอันงามของมหาบาลแล้วทรงเทศนามุ่งที่ มหาบาลเป็นสำคัญ  เมื่อจบเทศนาแล้วมหาบาล ได้ความรู้แจ้งในธรรม เกิดรู้สึกอยากบวชในพุทธศานา เขาเข้าถวายบังคมทูลพระพุทธเจ้าขอบวช  พระพุทธเจ้าถามว่า " มีใครที่เขาต้องบอกลามั้ย" เขาบอกว่ามีน้องชายอยู่คนหนึ่ง พระพุทธเจ้าให้เขาไปบอกลาน้องชายเสียก่อน เขากลับไปบ้าน บอกมอบสมบัติทั้งหมดให้น้องชาย
     "แล้วพี่เล่า?" น้องชายเขาถาม  "พี่จะบวช"  เขาตอบมั่นคง  "บวชทำไมพี่  พี่ยังหนุ่มยังอยู่ในวัยควรบริโภคกาม ถ้าจะบวชก็ค่อยบวชตอนแก่" "บวชเมื่อแก่แล้วจะประพฤติพรหมจรรย์ให้ดีได้อย่างไร กำลังวังชาก็ถดถอย "   น้องชายเขาห้ามเท่าไรก็ไม่เป็นผล ในที่สุด มหาบาลก็ได้บวชสมใจปรารถนา
     เมื่อบวชได้ 5 พรรษา ได้นิสัยมุตตกะ คือพอปกครองตนเองได้แล้ว ปรารถนาจะออกไปอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ทำกิจของพรรชิตให้สิ้น จึงเข้าไปทูลลาพระศาสดา  พระศาสดตรัสบอกกัมมฐานให้ตั้งแต่ต้นจนเพียงพอที่จะบรรลุอรหัตตผลได้  เหมือนมารดาให้เสบียงแก่บุตรจึงอนุญาติให้ไป
     หลังจากทูลลาแล้วพระมหาบาทก็เที่ยวหาเพื่อนภิกษุที่จะร่วมทางไปด้วย ไ้ด้เพื่อนร่วมทาง 60 รูป เดินทางไปห่าง วัดเชตวัน 120 โยชน์ ถึงปลายแดนหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่ง ตอนเช้าเข้าไปบิณฑบาตร
ชาวบ้านได้เห็นอาการอันน่าเลื่อมในของพระภิกษุทั้งหลาย จึงกราบนิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ที่นี่ โดยที่ชาวบ้านทั้งหลายจะนับถือพระรัตนตรัยและรักษา ศีล 5 ศีล 8 ตลอดพรรษา พระมหาบาลก็รับคำนิมนต์
     ในหมู่บ้านนั้นมีหมอใจบุญคนหนึ่ง ได้ปวารณาตัวว่า หากมีพระรูปใดเจ็บไข้ได้ป่วยขอให้บอก เขาจะรักษาให้โดยไม่คิดค่ายาค่ารักษาแต่ประการใด
      เมื่อวันเข้าพรรษามาถึง พระมหาบาลถามภิกษุทั้งหลายว่า ในพรรษานี้จะอยู่ด้วยอิริยาบทเท่าใด
      ภิกษุทั้งหลายตอบว่า จะอยู่ด้วยอิริยาบท 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วท่านล่ะ
      "ข้าพเจ้าจะอยู่ด้วยอิริยาบท 3 คือ ยืน เดิน นั่ง เว้นอิริยาบทนอน"  และพระมหาบาทก็ได้ทำตามนั้น
 หนึ่งเดือนผ่านไป ก็เกิดโรคตาขึ้นกับท่าน น้ำตาไหลออกจากตาทั้งสองของท่านตลอดเวลา  ภิกษุทั้งหลายจึงไปตามหมอมารักษา หมอได้มาผสมยาให้ท่านหยอดตาเพื่อรักษา แต่ท่านไม่ยอมนอนหยอดกลับนั่งหยอดอยู่อย่างนั้น
     เมื่อไปบิณฑบาตรในตอนเช้าพบหมอ หมอถามว่า"ท่านได้หยอดตาหรือไม่"  ท่านตอบว่าหยอด
"ดีขึ้นหรือไม่" หมอถามต่อ  "ไม่ดีขึ้นเลย-อุบาสก,ยังเหมือนเดิม" ท่านตอบ
"ท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด" หมอถาม แต่พระมหาบาลนิ่ง หมอประหลาดใจมาก เพราะยาที่เขาประกอบนั้นเป็นยาดีมาก เคยรักษาคนไข้มาหยอดครั้งเดียวก็หาย แต่พระมหาบาลหยอดหลายครั้งแล้วอาการไม่ดีขึ้น
    ในวันต่อมาเขาถามพระอย่างนั้นอีก พระก็ตอบอย่างเดิมแล้วก็นิ่ง  หมอจึงคิดว่าชักไม่ได้เรื่องซ่ะแล้วจึงไปดูในที่อยู่ของท่าน ในที่อยู่ของท่านเห็นมีแต่ที่จงกรมและที่นั่ง ไม่มีที่นอน เขาจึงเข้าใจจึงพูดกับท่านว่า "พระคุณเจ้าท่านมิได้หยอดยาตามที่ข้าพเจ้าสั่งเลย ท่านจึงไม่หายจากโรค  สมณธรรมนั้นเมื่อร่างกายยังอยู่ ท่านย่อมสามารถทำได้ แต่เมื่อร่างกายไม่ดีเสียแล้ว ท่านจักบำเพ็ญสมณธรรมใดได้อย่างไร ขอท่านจงรักษาร่างกายไว้ก่อนเถิด"  พระมหาบาลตอบว่า "อาตมาขอเวลาคิดดูก่อน"
     เพราะความที่ท่านได้ตั้งสัตย์ไว้ว่าจะไม่นอนตลอดพรรษาจึงทำให้ท่านตัดสินใจไม่ทำตามหมอแนะนำแม้ตาทั้งสองจะแตกจะสลายไปท่านก็ยอมแต่ไม่ยอมทำลายความตั้งใจ สุดท้ายท่านก็นั่งหยอดยาอยู่อย่างนั้นนั่นเอง  วันรุ่งขึ้นเมื่อพบหมอ หมอก็ถามอย่างเคย ท่านก็ตอบอย่างเคย  หมอรู้ว่าด้วยอาการอย่างนี้โรคของพระท่านนี้ไม่อาจจะรักษาได้ เกรงเสียชื่อของตนจึงเรียนท่านว่า "พระคุณเจ้า ท่านมิได้ปฎิบัตตามที่หมอสั่งเลย ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอท่านอย่าได้พูดกับใครว่า ข้าพเจ้าเป็นหมอรักษาท่าน ข้าพเจ้าก็จักไม่พูดบอกกับใครเช่นกัน" พระเถระมิได้พูดอะไร
     เมื่อกลับมายังที่อยู่ของตน ให้โอวาทตนเองตกลงกับตนเองว่า"บัดนี้หมอได้บอกเลิกรักษาเสียแล้ว ขอให้มั่นคงในสัจจปฎิญาณ อย่าละทิ้งอุดมคตินั้นเสีย อย่านอน ยอมให้ตาแตกแต่อย่าทำลายความตั้งใจ ดวงตาหาได้ง่ายกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า นานครั้งพระพุทธเจ้าจึงจะอุบัติขึ้นสักองค์หนึ่ง แต่การเกิดของเราพร้อมด้วยดวงตานั้นมีนับครั้งไม่ถ้วน"  ท่านตกลงกับตนเอง แล้วคงทำความเพียรด้วยอิริยาบถ 3 ต่อไปไม่ยอมนอน
     พอล่วงมัชิมยามไป(เลยตีสองไปแล้ว) ดวงตาของท่านก็แตกไปพร้อมกับความดับโดยสิ้นเชิงแห่งกิเลสทั้งปวง ท่านเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก(ผู้ดำเนินตามสายพระวิปัสสนาจนเป็นพระอรหันต์) ผู้หนึ่ง