วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ชนกชาดกพระมหาชนก ตอนที่ 2

ในเมืองมิถิลา พระราชาโปลชนกไม่มีพระโอรส ทรงมีแต่ พระธิดาผู้ฉลาดเฉลียวเป็นอย่างยิ่ง พระนามว่า เจ้าหญิงสิวลี ครั้นเมื่อพระองค์ประชวรหนักใกล้จะสวรรคต บรรดาเสนา ทั้งปวงจึงทูลถามขึ้นว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วราชสมบัติ ควรจะตกเป็นของผู้ใด ในเมื่อไม่ทรงมีพระโอรส พระเจ้าโปลชนก ตรัสสั่งเสนาว่า "ท่านทั้งหลายจงมอบ ราชสมบัติให้แก่ผู้มีความสามารถดังต่อไปนี้ ประการแรก เป็นผู้ที่ทำให้พระราชธิดาของเราพอพระทัยได้ ประการที่สอง สามารถรู้ว่าด้านไหนเป็นด้านหัวนอนของ บัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ประการที่สาม สามารถยกธนูใหญ่ ซึ่งต้องใช้แรงคนธรรมดา ถึงพันคนจึงจะยกขึ้นได้ ประการที่สี่ สามารถชี้บอกขุมทรัพย์มหาศาลทั้ง 13 แห่งได้" แล้วจึงตรัสบอกปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่ง แก่เหล่าอำมาตย์ เช่น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ตก ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่ภายในและภายนอก ขุมทรัพย์ที่ปลายไม้ ขุมทรัพย์ที่ปลายงา ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง เป็นต้น เมื่อพระราชาสิ้นพระชนม์ บรรดาเสนาบดี ทหาร พลเรือน และประชาราษฎร์ทั้งหลายต่างพยายามที่จะ เป็นผู้สืบราชสมบัติ แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้เจ้าหญิงสีวลีพอพระทัยได้ เพราะล้วนแต่พยายามเอาพระทัยเจ้าหญิงมากเกินไป จนเสียลักษณะของผู้ที่จะปกครองบ้านเมือง ไม่มีผู้ใดสามารถยก มหาธนูใหญ่ได้ ไม่มีผู้ใดรู้ทิศหัวนอนของบัลลังก์สี่เหลี่ยม และไม่มีผู้ใดไขปริศนาขุมทรัพย์ได้
   ในที่สุดบรรดาเสนาข้าราชบริพารจึงควรตั้งพิธีเสี่ยงราชรถ เพื่อหาตัวบุคคลผู้มีบุญญาธิการสมควรครองเมือง บุษยราชรถเสี่ยงทายนั้นก็แล่นออกจากพระราชวัง ตรงไปที่สวน แล้วหยุดอยู่หน้าศาลาที่ พระมหาชนกทรงนอนอยู่ ปุโรหิตที่ตามราชรถจึงให้ประโคมดนตรีขึ้น พระมหาชนกได้ยินเสียงประโคม จึงลืมพระเนตรขึ้น เห็นราชรถ ก็ทรงดำริว่า คงเป็นราชรถเสี่ยงทาย พระราชาผู้มีบุญเป็นแน่ แต่ก็มิได้แสดงอาการอย่างใดกลับบรรทมต่อไป ปุโรหิตเห็นดังนั้น ก็คิดว่า บุรุษผู้นี้เป็นผู้มีสติปัญญา ไม่ตื่นเต้นตกใจกับสิ่งใดโดยง่าย จึงเข้าไปตรวจดูพระบาทพระมหาชนก เห็นลักษณะต้องตาม คำโบราณว่าเป็นผู้มีบุญ จึงให้ประโคมดนตรีขึ้นอีกครั้ง แล้วเข้าไปทูลอัญเชิญ พระมหาชนกให้ทรงเป็นพระราชาเมืองมิถิลา พระมหาชนกตรัสถามว่า พระราชาไปไหนเสีย ปุโรหิตก็กราบทูลว่า พระราชาสวรรคต ไม่มีพระโอรสมี แต่พระธิดาคือเจ้าหญิงสิวลี แต่องค์เดียว พระมหาชนกจึงทรงรับเป็นกษัตริย์ครองมิถิลา ฝ่ายเจ้าหญิงสิวลีได้ทรงทราบว่า พระมหาชนกได้ราชสมบัติ ก็ประสงค์จะทดลองว่า พระมหาชนก สมควรเป็นกษัตริย์หรือไม่ จึงให้ราชบุรุษไปทูลเชิญเสด็จมาที่ปราสาทของพระองค์ พระมหาชนกก็เฉยเสีย มิได้ไปตามคำทูล เจ้าหญิงให้คนไปทูล ถึง 3 ครั้ง พระมหาชนกก็ไม่สนพระทัย จนถึงเวลาหนึ่งก็ เสด็จไปที่ปราสาทของเจ้าหญิงเอง โดยไม่ทรงบอกล่วงหน้า เจ้าหญิงตกพระทัยรีบเสด็จมาต้อนรับเชิญ ไปประทับบนบัลลังก์
   พระมหาชนกจึงตรัสถามอำมาตย์ว่าพระราชาที่สิ้นพระ ชนม์ ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง อำมาตย์ก็ทูลตอบ พระมหาชนกจึงตรัสสั่งว่า ข้อที่ 1 "ที่ว่าทำให้เจ้าหญิงพอพระทัย เจ้าหญิงได้ แสดงแล้วว่าพอพระทัยเราจึงได้เสด็จมาต้อนรับเรา" ข้อที่ 2 เรื่องปริศนาทิศหัวนอนบัลลังก์นั้น พระมหาชนกทรง คิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วถอดเข็มทองคำที่กลัดผ้าโพกพระเศียรออก ส่งให้เจ้าหญิงให้วางเข็มทองคำไว้ เจ้าหญิงทรงรับเข็มไปวางไว้ บนบัลลังก์สี่เหลี่ยม พระมหาชนกจึงทรงชี้บอกว่าตรงที่เข็มวาง อยู่นั้นแหละคือทิศหัวนอนของบัลลังก์ โดยสังเกต จากการที่ เจ้าหญิงทรงวางเข็มทองคำ จากพระเศียรไว้ ข้อที่ 3 นั้นก็ตรัสสั่งให้นำมหาธนูมา ทรงยกขึ้นและน้าวอย่าง ง่ายดาย ข้อที่ 4 เมื่ออำมาตย์กราบทูลถึงปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่ง พระมหาชนกทรงคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ ตรัสบอกคำแก้ปริศนา ขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่งได้หมด เมื่อสั่งให้คนไปขุดดู ก็พบขุมทรัพย์ ตามที่ตรัสบอกไว้ทุกแห่ง ผู้คนจึงพากันสรรเสริญปัญญาของ พระมหาชนกกันทั่วทุกแห่งหน พระมหาชนกโปรดให้เชิญพระมารดาและพราหมณ์ ทิศาปาโมกข์จากเมืองกาลจัมปากะ ทรงอุปถัมภ์ บำรุงให้สุขสบาย ตลอดมา จากนั้นทรงสร้างโรงทานใหญ่ 6 ทิศในเมืองมิถิลา ทรงบริจาคมหาทานเป็นประจำ เมืองมิถิลาจึงมีแต่ความผาสุก สมบูรณ์ เพราะพระราชาทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ต่อมาพระนางสิวลีประสูติพระโอรส ทรงนามว่า ทีฆาวุกุมาร เมื่อเจริญวัยขึ้น พระบิดาโปรดให้ดำรง ตำแหน่งอุปราช อยู่มาวันหนึ่ง พระราชามหาชนกเสด็จอุทยานทอดพระเนตร เห็นมะม่วงต้นหนึ่งกิ่งหัก ใบไม้ร่วง อีกต้นมีใบแน่นหนา ร่มเย็นเขียวชอุ่ม จึงตรัสถาม อำมาตย์กราบทูลว่าต้นมะม่วง ที่มีกิ่งหักนั้น เป็นเพราะรสมีผลอร่อย ผู้คนจึงพากันสอยบ้าง เด็ดกิ่งและขว้างปาเพื่อเอาบ้าง จนมีสภาพเช่นนั้น ส่วนอีกต้น ไม่มีผล จึงไม่มีคนสนใจ ใบและกิ่งจึงสมบูรณ์เรียบร้อยดี พระราชาได้ฟังก็ทรงคิดว่า ราชสมบัติ เปรียบเหมือน ต้นไม้มีผลอาจถูกทำลาย แม้ไม่ถูกทำลายก็ต้องคอย ระแวดระวังรักษา เกิดความกังวล เราจะทำตนเป็นผู้ ไม่มีกังวลเหมือนต้นไม้ไม่มีผล เราจะออกบรรพชา สละราชสมบัติเสีย มิให้เกิดกังวล
   พระราชาเสด็จกลับมาปราสาท ปลงพระเกศาพระมัสสุ ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ครองอัฏฐบริขารครบถ้วน แล้วเสด็จออกจากมหาปราสาทไป ครั้นพระนางสิวลีทรงทราบ ก็รีบติดตามมา ทรงอ้อนวอนให้ พระราชาเสด็จกลับ พระองค์ก็ไม่ยินยอม พระนางสิวลีจึงทำอุบายให้อำมาตย์ เผาโรงเรือนเก่าๆ และ กองหญ้า กองใบไม้ เพื่อให้พระราชา เข้าพระทัยว่าไฟไหม้พระคลังจะได้เสด็จกลับ พระราชาตรัสว่า พระองค์เป็นผู้ไม่มีสมบัติแล้ว สมบัติที่แม้จริงของพระองค์ คือความสุขสงบจากการบรรพชานั้นยังคงอยู่กับพระองค์ ไม่มีผู้ใดทำลายได้ พระนางสิวลีทรงทำอุบายสักเท่าไร พระราชาก็มิได้สนพระทัย และตรัสให้ประชาชนอภิเษก พระทีฆาวุราชกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ เพื่อปกครองมิถิลาต่อไป พระนางสิวลีไม่ทรงละความเพียร พยายามติดตาม พระมหาชนกต่อไปอีก วันรุ่งขึ้นมีสุนัขคาบเนื้อที่เจ้าของเผลอ วิ่งหนีมาพบผู้คนเข้าก็ตกใจทิ้งชิ้นเนื้อไว้ พระมหาชนกคิดว่า ก้อนเนื้อนี้เป็นของไม่มีเจ้าของ สมควรที่จะเป็นอาหารของเราได้ จึงเสวยก้อนเนื้อนั้น พระนางสิวลีทรงเห็นดังนั้น ก็เสียพระทัย อย่างยิ่ง ที่พระสวามีเสวยเนื้อที่สุนัขทิ้งแล้ว แต่พระมหาชนกว่า นี่แหล่ะเป็นอาหารพิเศษ ต่อมาทั้งสองพระองค์ทรงพบเด็กหญิงสวมกำไลข้อมือ ข้างหนึ่งมีกำไลสองอัน อีกข้างมีอันเดียว พระราชาตรัสถามว่า "ทำไมกำไลข้างที่มีสองอันจึงมีเสียงดัง" เด็กหญิงตอบว่า "เพราะกำไลสองอันนั้น กระทบกันจึงเกิดเสียงดัง ส่วนที่มี ข้างเดียวนั้นไม่ได้กระทบกับอะไรจึงไม่มีเสียง" พระราชาจึง ตรัสแนะให้ พระนางคิดพิจารณาถ้อยคำของเด็กหญิง กำไลนั้นเปรียบเหมือนคนที่อยู่สองคน ย่อมกระทบกระทั่งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็จะสงบสุข แต่พระนางสิวลียังคงติดตาม พระราชาไปอีก จนมาพบนายช่างทำลูกศร นายช่างทูลตอบ คำถามพระราชาว่า "การที่ต้องหลับตาข้างหนึ่งเวลาดัด ลูกศรนั้น ก็เพราะถ้าลืมตาสอง ข้างจะไม่เห็นว่าข้างไหนคด ข้างไหนตรง เหมือนคนอยู่สองคนก็จะขัดแย้งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็ไม่ขัดแย้ง กับใคร" พระราชาตรัสเตือนพระนางสิวลีอีกครั้งหนึ่งว่า พระองค์ประสงค์จะเดินทางไปตามลำพัง เพื่อแสวงหา ความสงบไม่ประสงค์จะมีเรื่องขัดแย้งกระทบกระทั่ง หรือความไม่สงบอันเกิดจากการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น อีกต่อไป
   พระนางสิวลีได้ฟังพระวาจาดังนั้นก็น้อยพระทัยจึงตรัสว่า "ต่อไปนี้หม่อมฉันหมดวาสนาจะได้อยู่ร่วมกับ พระองค์อีกแล้ว" พระราชาจึงเสด็จไปสู่ป่าใหญ่แต่ลำพังเพื่อบำเพ็ญสมาบัติ มิได้กลับมาสู่พระนครอีก ส่วนพระนางสิวลี เสด็จกลับเข้าสู่ พระราชวัง อภิเษกพระทีฆาวุกุมารขึ้นเป็นพระราชา แล้วพระนางโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นในที่ต่างๆ เพื่อรำลึกถึง พระราชามหาชนก ผู้ทรงมีพระสติปัญญา และที่ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด คือ ทรงมีความ เพียรพยายามเป็นเลิศ มิได้เคยเสื่อมถอย จากความเพียร ทรงตั้งพระทัยที่จะกระทำการโดยเต็มกำลัง ความสามารถ เพราะทรงยึดมั่นว่า บุคคลควรตั้งความเพียรพยายามไม่ว่ากิจการนั้น จะยากสักเพียงใด ก็ตาม คนมีปัญญาแม้ได้รับทุกข์ ก็จะไม่สิ้นหวัง ไม่สิ้นความเพียรที่จะพาตนให้พ้นจากความทุกข์นั้นให้ ได้ในที่สุด