ท้าวสักกะซึ่งเป็นเทพชั้นดาวดึงส์เกิดร้อนใจเพราะเดชแห่งศีลของพระจักขุบาล จึงแลลงมายังโลกมนุษย์ เห็นพระเถระกำลังลำบาก จึงเสด็จลงมาโดยปลอมตัวเป็นคนเดินทางเพื่อช่วยพระเถระ
"นั่นใคร" พระเถระได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินจึงถามไป
"ข้าพเจ้าเป็นคนเดินทาง ผ่านมาทางนี้" ท้าวสักกะตอบ
"ท่านจะไปไหนอุบาสก"
"จะไปเมืองสาวัตถีพระคุณเจ้า แล้วพระคุณเจ้าเล่าจะไปที่แห่งใด"
"อาตมาจะไปเมืองสาวัตถีเช่นกัน"
"ถ้าอย่างนั้นนิมนต์ไปกับข้าพเจ้าเถิด"
"อาตมาเป็นคนตาบอด ท่านเดินทางร่วมกับอาตมาจะทำให้ท่านเดินทางล่าช้า"
"ไม่เป็นไร-พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าไม่มีกิจธุระรีบร้อนอันใด อีกอย่างหนึ่ง มีพระคุณเจ้าไปด้วยข้าพเจ้ากลับได้บุญประการหนึ่งใน 10 ประการ นั่นคือ ไวยาวัจจมัย บุญอันได้จากการขวนขวายในกิจที่ชอบ"
พระจักขุบาล ทราบได้ในทันทีว่าบุคคลผู้นี้เป็นสัตบุรษจึงยื่นปลายไม้เท้าให้ออกเดินทางมุ่งสู่เมืองสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศล และได้ถึงสาวัตถีในเย็นวันนั้น
เมื่อมาถึงเมืองสาวัตถีพระเถระรู้สึกสงสัยว่าทำไมมาถึงไวผิดปกติ จึงถามคนนำทางว่า ทำไมถึงเร็วนัก ท่านผู้นั้นตอบว่าเขานั้นรู้ทางลัดที่ย่นระยะทางได้มาก พระเถระจึงรู้ว่าท่านผู้นี้ไม่ใช่คนธรรดาแต่เป็นเทพเจ้า ท้าวสักกะ(ผู้นำทาง) ได้นำพาพระเถระไปยังศาลาที่ จุลบาล น้องชายของพระเถระได้สร้างไว้ และได้นำเรื่องที่พระจักขุบาลมาถึงแล้วแจ้งให้จุลบาลทราบ
ฝ่ายจุลบาลเมื่อมาพบสภาพที่พี่ชายตาบอดทั้งสองข้างก็อดกลั้นความโศกไม่ได้เอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญ รำัพันว่า"เพราะอย่างนี้ไงเล่า กระผมจึงไม่ยอมให้ท่านบวช ในครั้งนั้นก็พยายามห้ามแล้วท่านก็ไม่เชื่อกระผม"
"จุลบาล! เรื่องมันล่วงเลยมาแล้ว อย่าคิดอะไรเลย มันเป็นเรื่องของกรรม" พระเถระปลอบน้องชาย
จุลบาลได้ปลดปล่อยเด็กทาส สองคนให้เป็นไท แล้วให้บวชเป็นสามเณรเพื่อคอยรับใช้พระจักขุบาล
ในเย็นวันหนึ่งมีภิกษุหลายรูปมาจากต่างถิ่นสู่วัดเชตวันเพื่อเฝ้าพระศาสดา ขณะที่เดินชมสถานที่ต่างๆจนมาถึงกุฏิที่พักของพระจักขุบาลฝนเกิดตกลงมา จึงพากันกลับไปก่อนยังไม่ทันที่จะได้เข้าเฝ้าพระศาสดาแต่ก็ตั้งใจว่ารุ่งเช้าจะกลับมาใหม่ ในยามดึกหลังฝนหยุดตกวันนั้น พระจักขุบาล ได้กระทำกิจการเดินจงกรมหน้าที่พัก เกิดเดินเหยียบแมลงเต่าทองตายไปเป็นอันมาก
พอตอนรุ่งเช้า ศิษย์ของท่านยังไม่ทันจะได้เก็บกวาดทำความสะอาดในที่จงกรมนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะได้ผ่านมาเห็นแมลงตายไปเป็นอันมาก จึงถามว่าเป็นที่จงกรมของใคร เมื่อรู้ว่าเป็นที่ของพระจักขุบาล จึงนำเรื่องทั้งปวงทูลแก่พระศาสดาทั้งสิ้น
พระศาสดาถามว่า เห็นพระจักขุบาลเหยียบสัตว์หรือ
"ไม่เห็นพระเจ้าข้า"
"ดูก่อนภิกษุ! เธอไม่เห็นจักขุบาลเหยียบสัตว์ฉันใด จักขุบาลก็ไม่เห็นสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นเหมือนกัน ธรรมดาพระอรหันต์ ย่อมไม่เจตนาฆ่าสัตว์"
ภิกษุทั้งหลายจึงถามว่า พระจักขุบาลเป็นถึงพระอรหันต์เหตุไฉนจึงตาบอด
พระศาสดาตอบว่า"เหตุทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดแก่พระจักขุบาลนั้น เป็นเพราะกรรมเก่า" แล้วทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังถึงอดีตชาติของพระจักขุบาลดังนี้....
ในอดีตกาล ณ เมืองพาราณสี มีหมอยาผู้หนึ่งเที่ยวรักษาคนไข้ตามหมู่บ้านและนิคมต่างๆ วันหนึ่งได้พบกับหญิงตามืดตามัวคนหนึ่ง จึงอาสาช่วยรักษาให้ หญิงผู้นั้นก็ยินดี หมอถามว่าหากรักษาหายแล้วจักมีสิ่งใดตอบแทนเขาไ้ด้บ้าง หญิงนั้นตอบว่า ตนพร้อมบุตรธิดาจะยอมเป็นทาสของหมอ หมอจึงปรุงยารักษาให้โดยการหยอดยาเพียงครั้งเดียวหญิงนั้นก็หายจากอาการตามัวมืด
แต่หญิงนั้นเมื่อตาหายดีแล้วกลับคิดจะบิดพลิ้ว ไม่ยอมเป็นทาสของหมอตามสัญญา เมื่อหมอถามถึงอาการเธอแกล้งบอกว่า เมื่อก่อนตาเธอจะเจ็บเล็กน้อย แต่พอหยอดยาของหมอไปแล้วกลับเจ็บปวดมากกว่าเดิม หมอรู้ได้ในทันทีว่า หญิงผู้นี้คิดไม่ซื่อ ไม่ต้องการตอบแทนค่าจ้าง เขาคิดว่า คนอย่างนี้ต้องทำให้ตาบอดเสีย แล้วก็กลับไปบ้านปรุงยามาใหม่นำไปให้หญิงคนไข้ของตน หญิงผู้นี้เพื่อจะแสดงละครตบตาหมอว่าตนยังไม่หายดี จึงได้หยอดตาด้วยยาที่หมอปรุงมาใ้ห้ใหม่ ทันใดนั้นหลังจากหยอดตาเรียบร้อยทั้งสองข้างพลันตาของนางก็กลับบอดสนิทในทันที
หมอคนนั้นได้เกิดมาเป็นพระจักขุบาลในชาตินี้ พระศาสดาได้ตรัสย้ำว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! กรรมที่บุตรเรา(พระจักขุบาล)ทำแล้วในครั้งนั้นได้ติดตามอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้โอกาสก็ให้ผล กรรมอันบุคคลทำแล้ว ย่อมติดตามบุคคลไปเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโคฉะนั้น"
จากนั้นพระองค์ก็ตรัสพระพุทธภาษิตว่า"สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ ถ้าใจไม่ดี การทำการพูดก็พลอยไม่ดีไปด้วย เพราะความไม่ดีนั้นเป็นเหตุ ความทุกข์ก็ติดตามมา เหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค"